ความแปรปรวนของลักษณะสัณฐานวิทยาในเมล็ดข้าวพันธุ์สังข์หยดจากภาคใต้ของประเทศไทย

Main Article Content

นันทิยา พนมจันทร์
ศันสนีย์ จำจด
เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม
Bernard Dell
ชนากานต์ พรมอุทัย

บทคัดย่อ

ข้าวพันธุ์สังข์หยดนิยมบริโภคกันมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ เนื่องจากมีคุณภาพการหุงต้มที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่พบว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ดข้าวพันธุ์ดังกล่าว มีลักษณะของความขุ่นและใสของเมล็ดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งภายในและระหว่างประชากรข้าวที่ปลูกในพื้นที่ต่างกัน การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความแตกต่างของลักษณะทางสัณฐานวิทยาของข้าวพันธุ์สังข์หยดจากภาคใต้ โดยเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวสังข์หยดที่ปลูกจากแปลงเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา จำนวน 22 ตัวอย่าง และนำมาปลูกทดสอบในรุ่นลูกเพื่อวัดความแตกต่างของลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ด ได้แก่ สีเยื่อหุ้มเมล็ด ขนาด รูปร่างและน้ำหนักเมล็ด ความขาวและความใสของเมล็ด ชนิดข้าวสาร จำนวนเมล็ดขุ่นและเมล็ดใส ในแต่ละตัวอย่าง พบว่ามีความแปรปรวนในลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ดทั้งภายในและระหว่างประชากรข้าวพันธุ์สังข์หยดที่เก็บมา สีเยื่อหุ้มเมล็ดที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่า มีค่าดัชนีความหลากหลาย (H’) อยู่ระหว่าง 0-0.3 และเมื่อขัดสีเป็นข้าวขาวพบว่าภายในประชากรตัวอย่างข้าวมีสัดส่วนเมล็ดใสและขุ่นแตกต่างกันมาก น้ำหนัก 100 เมล็ดมีการกระจายตัวค่อนข้างสูง ในข้าวเปลือกอยู่ในช่วง 1.61-1.83 กรัม และในข้าวกล้องอยู่ในช่วง 1.24-1.43 กรัม เมื่อจำแนกเมล็ดใสและขุ่นภายในประชากรออกมา พบว่าลักษณะเมล็ดใสมีน้ำหนักเมล็ดมากกว่าเมล็ดขุ่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีความแตกต่างของขนาดเมล็ดทั้งภายในและระหว่างประชากร ลักษณะความขุ่นและใสของเมล็ดข้าวสังข์หยดมีผลต่อน้ำหนักเมล็ด โดยพบความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างน้ำหนัก 100 เมล็ดของข้าวกล้องกับจำนวนเมล็ดใส (r=0.50, P<0.05) ในขณะที่พบความสัมพันธ์ทางลบกับเมล็ดขุ่น (r=-0.50, P<0.05) และยังพบความสัมพันธ์เช่นเดียวกันนี้ในข้าวเปลือกด้วย ลักษณะเมล็ดใสและขุ่นที่พบในเมล็ดข้าวพันธุ์สังข์หยดมีผลต่อการสูญเสียน้ำหนักเมล็ด กระทบต่อรายได้จากการขายข้าวและคุณภาพข้าวในด้านอื่นๆ ดังนั้นจึงต้องมีการศึกษาเรื่องความแตกต่างของโครงสร้างเมล็ดข้าวที่มีความใสและขุ่นในเชิงลึกต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย (research article)

References

นันทิยา พนมจันทร์ และ วิจิตรา อมรวิริยะชัย. 2554. ความหลากหลายทางพันธุกรรมของข้าวพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ด. วารสารหาดใหญ่วิชาการ. 9: 25-31.
สำเริง แซ่ตัน. 2550. ข้าวพันธุ์แรก: สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง. น. 237-244. ใน: การประชุมวิชาการข้าวและธัญพืชเมืองหนาว ประจำปี 2550, กรุงเทพฯ.
สำเริง แซ่ตัน. 2553. ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ เล่ม 2. ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว, กรุงเทพฯ.
สุนันทา วงศ์ปิยชน, กัญญา เชื้อพันธุ์, วัชรี สุขวิวัฒน์, สุวณี กิตติลาภานนท์, ละม้ายมาศ ยังสุข และรุจิรา ปรีชา. 2549. คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ เคมี และโภชนาการข้าวสายพันธุ์ดี. น.289-301. ใน: การประชุมวิชาการข้าวและธัญพืชเมืองหนาว ประจำปี 2549, กรุงเทพฯ.
อรวรรณ สมใจ, จรัสศรี นวลศรี และไพศาล เหล่าสุวรรณ. 2553. ความหลากหลายทางพันธุกรรมของ ข้าวพื้นเมือง บริเวณลุ่มน้ำนาทวีจังหวัดสงขลา โดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเมล็ด และเครื่องหมายไมโครแซทเทลไลท์. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร. 41: 89-97.
Hutchenson, K. 1970. A test for comparing diversities based on the shannon formular. J. Theor. Biol. 29: 151-154.
IRRI. 1996. Standard evaluation and utilization system for rice. IRRI publisher, Manila Philippines.
Mitsui, T., T. Shiraya, K. Kaneko, and K. Wada. 2013. Proteomics of rice grain under high temperature stress. Front. Plant Sci. 4: 1-5.
Yamakawa, H., T. Hirose, M. Kuroda, and T. Yamaguchi. 2007. Comprehensive expression profiling of rice grain filling-related genes under high temperature using DNA microarray. Plant Physiol. 144: 258-277.
Yodmanee, S., T.T. Karrila, P. Pakdeechanuan. 2011. Physical, chemical and antioxidant properties of pigmented rice grown in Southern Thailand. Inter. Food Res. J. 18: 901-906.