อิทธิพลของวัสดุอินทรีย์ที่ใช้ในการปรับปรุงดินต่ออัตราการรอดของไส้เดือนดิน Eisenia fetida ในดินเค็ม

Main Article Content

กนกรัตน์ พาแก้วมณี
ชุลีมาศ บุญไทย อิวาย
บุปผา โตภาคงาม
ปราณี สีหบัณฑ์
วิทยา ตรีโลเกศ

บทคัดย่อ

ดินเค็มเป็นดินปัญหาที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมถึงกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตในดิน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งไส้เดือนดินมีบทบาทสำคัญต่อทรัพยากรดิน ช่วยฟื้นฟูปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน การใช้ไส้เดือนดินเริ่มมีการศึกษาและนำมาใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มมากขึ้น แต่ยังพบว่าอัตราการอยู่รอดของไส้เดือนดินในพื้นที่ดินเค็มมีค่าต่ำมาก การนำวัสดุอินทรีย์เข้ามาร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มด้วยนั้นอาจจะเป็นทางแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของวัสดุอินทรีย์ที่ใช้ในการปรับปรุงดินเค็มต่ออัตราการรอดของไส้เดือนดิน Eisenia fetida โดยทำการเก็บตัวอย่างดินเค็มแบบทำลายโครงสร้าง(0-30 ซม.) ชุดดินทุ่งสัมฤทธิ์ ในพื้นที่ดินเค็มปานกลาง จังหวัดขอนแก่น วางแผนการทดลองแบบ CRD 8 ตำรับการทดลอง 3 ซ้ำ ประกอบด้วย ตำรับควบคุม (CT) , ปุ๋ยคอก (M) , ขุยไส้เดือนดิน (VC), ฟางข้าว (RS), M+VC, M+RS, VC+RS, และ M+VC+RS ใช้ไส้เดือนดินพันธุ์ Eisenia fetida ระยะเวลา 45 วัน ผลการศึกษาพบว่า ไส้เดือนดินมีอัตราการรอดสูงสุดและระยะยาวนานที่สุดตลอด 45 วัน ในตำรับขุยไส้เดือนดินร่วมด้วยฟางข้าว (C+RS) ที่ 0, 14, 28 และ 45 วัน 100%, 100%, 55.55% และ 33.33% ตามลำดับ รองลงมาเป็นตำรับปุ๋ยคอกร่วมด้วยฟางข้าว (M+RS) มีอัตราการอดของไส้เดือนดิน ที่ 0, 14, 28 และ 45 วัน 100%, 55.55%, 33.33% และ 0% ตามลำดับ เนื่องจากในตำรับขุยไส้เดือนดินมีปริมาณอินทรียวัตถุและปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดของดินเพิ่มสูงที่สุด (11.17%, 0.55 %) ค่า pH= 6.80 ลดลงรวมถึงปริมาณโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย (7.51 mg/kg) นอกจาก ค่า EC ลดลง (5.00 dS/m) ค่า CEC เพิ่มขึ้นสูงที่สุด (35.85 Cmol/kg) จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าตำรับขุยไส้เดือนร่วมกับฟางข้าวเป็นวิธีที่ทำให้ไส้เดือนดินมีอัตราการรอดสูงสุดและยังช่วยเพิ่มลดความเค็มของดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งเป็นอีกแนวทางในการฟื้นฟูและปรับปรุงดินเค็มได้

Article Details

บท
บทความวิจัย (research article)