ประชากรด้วงขี้ไก่, Alphitobius diaperinus (Panzer) (Coleoptera; Tenebrionidae) ในหนึ่งวงรอบการเลี้ยงไก่ช่วงฤดูฝนภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ จังหวัดนครสวรรค์

Main Article Content

ณัฐฐิญา อัครวิวัฒน์ดำรง
ปิยะเทพ อาวะกุล

บทคัดย่อ

ด้วงขี้ไก่ (Alphitobius diaperinus (Panzer)) เป็นแมลงศัตรูสำคัญในอุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก เนื่องจากเป็นพาหะนำโรคมาสู่ไก่หลายชนิด และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรือนทำให้เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโรงเรือนโดยไม่จำเป็น การศึกษาประชากรด้วงขี้ไก่ในช่วงฤดูฝนภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ 2 แห่ง ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ คือ ฟาร์ม A ตำบลหนองกรด (13 ก.ย. – 25 ต.ค. 57) และฟาร์ม B ตำบลหนองปลิง (21 ส.ค. – 30 ก.ย. 57) ทดลองฟาร์มละ 2 โรงเรือน โดยใช้กับดักแมลง Arends tube traps เพื่อเก็บตัวอย่างแมลงทุกสัปดาห์เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พร้อมกับบันทึกข้อมูลสภาพอากาศภายในโรงเรือน (อุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์) ผลการศึกษาพบว่าจำนวนประชากรแมลงรวมทั้ง 3 ระยะ (ระยะหนอน ระยะดักแด้ และตัวเต็มวัย) ไม่มีความสัมพันธ์กับสภาพอากาศภายในโรงเรือน โดยฟาร์ม A มีอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 – 6 คือ 27.66 – 31. 56 oC และ 73.03 – 87.06% ตามลำดับ และฟาร์ม B คือ 28.19 – 33.32 oC และ 70.07 – 85.88% ตามลำดับ ในขณะที่ประชากรแมลงรวมของฟาร์ม A และ B มีความแตกต่างกัน (p-value < 0.05) โดยฟาร์ม A มีประชากรแมลงระยะหนอน (ฟาร์ม A = 41.54 ตัว/ตร.ม.; ฟาร์ม B = 13.32 ตัว/ตร.ม.) และตัวเต็มวัย (ฟาร์ม A = 4.27 ตัว/ตร.ม.; ฟาร์ม B = 1.15 ตัว/ตร.ม.) มากกว่าฟาร์ม B แต่ระยะดักแด้ (ฟาร์ม A = 1.08 ตัว/ตร.ม.; ฟาร์ม B = 0.85 ตัว/ตร.ม.) ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ โดยทั้งสองฟาร์มพบระยะหนอนตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 และสูงสุดในสัปดาห์ที่ 5 จากนั้นลดลงในสัปดาห์ที่ 6 ในขณะที่พบประชากรระยะตัวเต็มวัยตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 และค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงสุดในสัปดาห์ที่ 6 ดังนั้น ผลจากการศึกษานี้จึงบ่งชี้ว่าการประเมินประชากรแมลงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเลือกใช้วิธีการจัดการด้วงขี้ไก่ภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิด (Evaporative Cooling System: EVAP)

Article Details

บท
บทความวิจัย (research article)