กระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำประมงพื้นบ้านของชุมชนลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประเทศไทย

Main Article Content

อภิญญา รัตนไชย

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษากระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำประมงพื้นบ้านของชุมชนลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่ศึกษาองค์ประกอบทางการสื่อสารและกระบวนการในการถ่ายทอดภูมิปัญญา โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายคือ คนในชุมชนที่ได้รับการนับถือว่าเป็นผู้มีความรู้ในการทำประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีจำนวน 5 ราย และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนลิพังมีกระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำประมงพื้นบ้านที่สามารถวิเคราะห์ตามองค์ประกอบของการสื่อสารได้ดังนี้ 1) แหล่งข้อมูลข่าวสารหรือผู้ถ่ายทอด คือ คนในชุมชนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือชำนาญ ในการทำประมงพื้นบ้าน และเป็นหัวหน้าครอบครัว 2) ตัวสารหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำประมงพื้นบ้านคือ เครื่องมือประมง วิธีการในการทำประมง และความเชื่อในการทำประมงพื้นบ้านของชุมชน 3) ช่องทางของการถ่ายทอดและสื่อที่ใช้ คือ ตัวอย่างจากของจริง การลงมือปฏิบัติ และการสาธิตเพื่อแสดงแบบอย่างของการทำงาน และ 4) ผู้รับสารหรือผู้รับการถ่ายทอด คือ คนในครอบครัวหรือเครือญาติเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญานั้น ผู้ถ่ายทอดจะเริ่มกระบวนการถ่ายทอดความรู้ในการทำเครื่องมือประมงพื้นบ้านและการทำประมงจากความรู้พื้นฐานที่ง่ายไปสู่การปฏิบัติที่ยากขึ้นตามลำดับ โดยใช้การอธิบายร่วมกับตัวอย่างจากของจริง การลงมือปฏิบัติ การสาธิตให้ดูแบบอย่าง ซึ่งผู้รับการถ่ายทอดจะสามารถสอบถามสิ่งที่สงสัยได้ แต่เนื่องจากผู้ถ่ายทอดมีจำนวนน้อยและมีอายุมาก ดังนั้น ชุมชนจึงควรมีการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้อยู่ในรูปของแหล่งข้อมูลที่สามารถนำเสนอได้ง่าย และมีความยั่งยืน และสร้างเป็นบทเรียนหรือหลักสูตรสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นให้อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนได้ต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย (research article)

References

นภดล ทองนพเนื้อ, สมหญิง พุ่มทอง, พัชรี คงสมัย, และศิตาพร ยังคง. 2546. กระบวนการเรียนรู้และการสืบทอดภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรเป็นอาหารและยาในจังหวัดนครนายก. ศรีนครินทรวิโรฒเภสัชสาร. 8:75-95.

นิยพรรณ วรรณศิริ. 2540. มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม. ภาควิชา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.

พระมหาเมธา คำไหล. 2547. การศึกษากระบวนการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำเครื่องทองลงหินบ้านหนองบัวน้อย ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, กรุงเทพฯ.

สุรัตน์ ตรีสกุล. 2547. หลักนิเทศศาสตร์. คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, กรุงเทพฯ.

สุนทร เกตุสุขาวดี. 2552. การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สาขาหัตถกรรมพื้นบ้าน: กรณีศึกษาบ้านหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, กรุงเทพฯ.