ผลของ 2,4-D ต่อการชักนำแคลลัสกระบองเพชรยิมโนด่าง (Gymnocalycium mihanovichii) ในสภาพปลอดเชื้อ ผลของ 2,4-D และการขยายพันธุ์ Gymnocalycium

Main Article Content

นพรัตน์ อินถา
นุชนาฏ ภักดี
มงคล ศิริจันทร์
พีระศักดิ์ ฉายประสาท

บทคัดย่อ

การขยายพันธุ์กระบองเพชรยิมโนด่าง (Gymnocalycium mihanovichii) ด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นำเมล็ดกระบองเพชรมาฟอกฆ่าเชื้อด้วยเอทานอล ความเข้มข้น 70% เป็นเวลา 1 นาที ตามด้วย Clorox® ความเข้มข้น 10% เป็นเวลา 10 นาที จากนั้น ล้างด้วยน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง นำเมล็ดที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อแล้วไปเลี้ยงบนอาหารสูตร Murashige and Skoog (MS) เป็นเวลา 10 สัปดาห์ จนกระทั่งเมล็ดงอกเป็นต้นอ่อน จากนั้นย้ายไปเลี้ยงบนอาหารสูตร MS ดัดแปลงที่เติม 2,4-Dichlorophenoxyacetic acid (2,4-D) ความเข้มข้น 0, 1, 2, 3 และ 4 มิลลิกรัม/ลิตร เพื่อชักนำแคลลัสเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อภายใต้สภาวะที่ให้แสงเป็นเวลา 16 ชั่วโมง/วัน (2,500 ลักซ์) ที่อุณหภูมิ 25±2°C เป็นเวลา 15 สัปดาห์ พบว่า มีเปอร์เซ็นต์การเกิดแคลลัส เท่ากับ 40.6, 73.6, 75.8, 77.2 และ 78.4% ตามลำดับ และมีน้ำหนักแคลลัสเฉลี่ย 0.26, 0.49, 0.82, 1.43 และ 1.85 กรัม ตามลำดับ การชักนำแคลลัสด้วย 2,4-D ความเข้มข้น 4 มิลลิกรัม/ลิตร ส่งผลให้มีเปอร์เซ็นต์การเกิดแคลลัสสูงที่สุด 78.4% และมีน้ำหนักแคลลัสเฉลี่ยสูงที่สุด 1.85 กรัม และมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

Article Details

บท
บทความวิจัย