ประสิทธิผลของเอทธิฟอนเพื่อชักนำการหลุดร่วง ของช่อดอกมะม่วงน้ำดอกไม้
Main Article Content
บทคัดย่อ
ความต้องการของเกษตรกรให้ช่อดอกหลุดร่วงออกไปโดยวิธีปลิดด้วยมือ นับเป็นการสิ้นเปลืองแรงงานยิ่งในกรณีที่ผลิตมะม่วงเชิงการค้า การใช้ฮอร์โมนพืชเอทธิลีนในรูปของเอทธิฟอนเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับทดแทนการปลิดด้วยมือในปัจจุบัน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลของเอทธิฟอนในการชักนำการหลุดร่วงของช่อดอกมะม่วงโดยใช้ระดับความเข้มข้นที่ต่างกัน รวมทั้งติดตามผลกระทบของวิธีการปลิดช่อดอกนี้ต่อการออกดอกซ้ำในเวลาต่อมา ทำการทดลองในสวนมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ของเกษตรกร ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อายุ 6 ปี วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ ประกอบด้วยการปลิดช่อดอก 4 กรรมวิธี ได้แก่ การปลิดด้วยมือ และการชักนำให้ดอกร่วงด้วยการฉีดพ่นเอทธิฟอนอีก 3 ระดับที่ความเข้มข้น 400, 600 และ 800 ส่วนต่อล้านส่วน ทำในระยะดอกบานเต็มที่ ระยะเวลาการทดลองระหว่าง ธันวาคม 2549 – มิถุนายน 2550 มะม่วงน้ำดอกไม้ที่ศึกษามีจำนวนยอดทั้งสิ้นเฉลี่ย 347.5 ยอด/ต้น ในจำนวนนี้พืชสามารถสร้างช่อดอกได้ร้อยละ 74.08
ผลการทดลองพบว่า การฉีดพ่นด้วยเอทธิฟอน ที่ความเข้มข้น 600 ส่วนต่อล้านส่วน มีประสิทธิภาพในการชักนำให้เกิดการหลุดร่วงของช่อดอกสูงที่สุด ที่ร้อยละ 99.1 ไม่แตกต่างกับการปลิดด้วยมือ โดยเป็นการหลุดร่วงของดอกทั้งช่อออกจากยอดเองรวมทั้งใช้เวลาสั้นที่สุดไม่เกิน 19.7 วันหลังการฉีดพ่น เมื่อช่อดอกเดิมหลุดร่วงไปแล้ว พืชสร้างช่อดอกใหม่ในทุกกรรมวิธี จากตำแหน่งเดิมและบริเวณอื่น เฉพาะจากตำแหน่งเดิมนับเวลาได้ 41.8, 21.3, 27.4 และ 35.9 วันหลังการปลิดด้วยมือและฉีดพ่นสารเคมีตามลำดับโดยไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ แต่มีจำนวนช่อดอกลดต่ำลงกว่าชุดแรกโดยเหลือเพียงร้อยละ 52.5, 61.3, 45.9 และ 40.3 ของจำนวนยอดทั้งหมดแต่แรก รวมทั้งช่อดอกมีขนาดเล็กลง จำนวนดอกย่อยในแต่ละช่อนับได้ 565.7, 373.0, 372.0 และ 442.3 ดอก/ช่อ ตามลำดับ ซึ่งไม่แตกต่างกันทางสถิติ และพบจำนวนดอกสมบูรณ์เพศในแต่ละช่อไม่แตกต่างกันที่ร้อยละ 65.5, 70.3, 73.5 และ 47.5 ตามลำดับ ข้อมูลดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าเอทธิฟอนที่ความเข้มข้น 600 ส่วนต่อล้านส่วน ฉีดพ่นในระยะดอกบานเต็มที่ สามารถนำมาใช้แทนการปลิดช่อดอกด้วยมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีของมะม่วงน้ำดอกไม้
Article Details
References
เกศิณี ระมิงค์วงศ์. 2546. การจัดจำแนกไม้ผล. ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่, เชียงใหม่. 417 หน้า.
เฉลิมชัย แก้ววรชาติ. 2539. การปลูกมะม่วง. อักษรสยามการพิมพ์, กรุงเทพฯ. 88 หน้า.
ธวัชชัย รัตน์ชเลศ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และรุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์. 2546. มะม่วงแก้ว ไม้ผลเพื่อความหวังและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ. สำนักพิมพ์ มติชน, กรุงเทพฯ. 196 หน้า.
ธวัชชัย รัตน์ชเลศ บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และรุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์. 2551. การใช้แนวทางกลุ่มยุทธศาสตร์เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วงส่งออก. รายงานฉบับที่ 1. ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่. 68 หน้า.
บัณฑิต เจริญฉ่ำ และรวี เสรฐภักดี. 2547. ผลของเอทธิฟอนและสภาพความเครียดน้ำต่อการปลิดดอกและผลอ่อนในมะนาวพันธุ์แป้น. ว. วิทย. กษ. 35 (5-6 พิเศษ): 439-444.
ปฐมา เดชะ. 2543. ความผันแปรลักษณะทางสัณฐานและไอโซไซม์ และคุณสมบัติการแปรรูปของมะม่วงแก้วสายต้นคัด. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่. 169 หน้า.
ภูวนาท นนทรี. มปป. คู่มือการปลูกมะม่วง. โครงการหนังสือเกษตรชุมชน. มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 120 หน้า.
วสันต์ ผ่องสมบูรณ์ และไพโรจน์ สุวรรณจินดา. 2548. เทคโนโลยีการผลิตมะนาวไทย. ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร, พิจิตร. 96 หน้า.
วีรชัย ผิวอินทร์. 2538. เปรียบเทียบวิธีการปลิดช่อดอกโดยใช้มือและสารเอทธิฟอนในมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์. ปัญหาพิเศษปริญญาตรี. สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้, เชียงใหม่. 15 หน้า.
สมบุญ เตชะภิญญาวัฒน์. 2544. สรีรวิทยาของพืช. พิมพ์ครั้งที่ 3. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 237 หน้า.
สำนักบริหารการนำเข้าส่งออกสินค้าทั่วไป. 2550. สถานการณ์สินค้ามะม่วงและผลิตภัณท์. (ระบบออนไลน์). แหล่งที่มาhttp://www.dft. moc.go.th/the_files/$$16/level4/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%20%E0%B8%9B%E0%B8%B5%202550(%E0%B8%A1.%E0%B8%84.-%E0%B8%95.% E0%B8%84.).doc (10 มิถุนายน 2551).
สุเมษ เกตุวราภรณ์. 2537. ไม้ผลเบื้องต้น. สาขาไม้ผล ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้, เชียงใหม่. 210 หน้า.
Issarakraisila, M. and J.A. Considine. 1991. Studies on induction of secondary inflorescences by deblossoming to delay flower in mango trees. Acta Hort. 291: 198-206.
Singh, R.N., P.K. Majumdar and D.K. Sharma. 1965. Studies on the bearing behaviour of some South Indian varieties of mango (Mangifera indica L.) under North Indian conditions. Trop. Agri. (Trin.) 12: 170-174.
Singh, R.N., P.K. Majumdar and D.K. Sharma. 1966. Sex expression in mango (Mangifera indica L.) with reference to prevailing temperature. Proc. Amer. Soc. Hort. Sci. 89: 228-230.