กระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์ลำไย
Main Article Content
บทคัดย่อ
เกษตรกรผู้ปลูกลำไยรายย่อยในภาคเหนือเผชิญกับความเสี่ยงด้านการผลิตและการตลาด จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการตลาดที่ไม่แน่นอน มาตรการความช่วยเหลือการตลาดของรัฐในสามปีหลังที่ผ่านมา ให้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจของเกษตรกร การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์อย่างมีส่วนร่วม สำหรับการผลิตและการตลาดลำไยคุณภาพอย่างยั่งยืนของกลุ่มผู้ปลูกลำไยรายย่อยในเขตภาคเหนือตอนบน โดยเน้นที่กระบวนการและผลที่เกิดขึ้น กระบวนการ พัฒนายุทธศาสตร์ มีขั้นตอน ดังนี้ 1) สังเคราะห์ข้อมูลระบบการผลิตลำไย ทั้งจากข้อมูลทุติยภูมิ และจากโครงการวิจัยที่ดำเนินการอยู่ 2) ทบทวนสถานการณ์ และมาตรการช่วยเหลือการตลาดลำไยของรัฐช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งความขัดแย้งกันในผลประโยชน์ระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมลำไย และแนวคิดริเริ่มของกลุ่มเกษตรกรที่พยายามหาทางออกในเรื่องนี้ 3) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ทบทวนและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล พร้อมทั้งร่วมกันพัฒนาแนวทางการผลิตและการตลาดอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการในแต่ละเดือน รวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2547 จนถึงกลางเดือนมิถุนายน 2548 4) ก่อนสิ้นสุดการประชุมของแต่ละครั้ง ผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละกลุ่มถูกมอบหมายให้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อมานำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป คณะทำงานของโครงการวิจัยเป็นผู้จัดทำรายงานผลการประชุม ติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือนอย่างใกล้ชิดจากหลายแหล่งในเรื่องการผลิตและการตลาดลำไย พร้อมทั้งหาข้อมูลบางส่วนเพิ่มเติมจากกลุ่มเกษตรกร และ 5) บูรณาการข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อเสนอแผนการแก้ปัญหาลำไยระยะสั้น สำหรับฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2548
การประชุมเชิงปฏิบัติการในกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ที่ดำเนินการหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง ได้สร้างความเข้าใจอันดี และเพิ่มความไว้ใจระหว่างกันมากขึ้น จนนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาการตลาดลำไยที่ปฏิบัติได้ โดยเน้นไปที่การเพิ่มสมรรถภาพให้กับสถาบันเกษตรกร การประชุมแต่ละครั้งได้เพิ่มทักษะการสื่อสารซึ่งกันและกัน พร้อมสนับสนุนด้วยข้อมูลที่ทันเหตุการณ์และการเตรียมเอกสารที่ดีของเกษตรกร ผลลัพธ์จากการประชุมได้ยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาการตลาดลำไยในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2548 ที่เสนอโดยสถาบันเกษตรกรเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรก ให้สถาบันเกษตรกรกู้ยืมเงินจากรัฐ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สำหรับรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกร และแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งเพื่อจัดจำหน่ายเอง มีรัฐบาลสนับสนุนด้านการจัดหาตลาดต่างประเทศ และแนวทางที่สอง ให้รัฐรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกร ผ่าน ธ.ก.ส. แล้วจัดจ้างเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง รัฐเป็นผู้จัดหาตลาดและจำหน่ายลำไยอบแห้งเอง ซึ่งรัฐได้ตอบสนองโดยเลือกแนวทางแรกไปใช้ในการแก้ปัญหาลำไยปี พ.ศ. 2548 แต่ก็มีอุปสรรคในทางปฏิบัติหลายประการทำให้ยังไม่ประสบผลตามที่คาดหวังไว้
Article Details
References
กรมการค้าภายใน. 2548. สรุปผลการประชุมคณะ กรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ครั้งที่ 10/2548 (ครั้งที่ 162). (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www.dit. go.th/aboutdetail.asp?catid=121010105&IC=579 (18 กรกฎาคม 2548).
กรมส่งเสริมการเกษตร. 2547. ระบบข้อมูลพื้นฐานการเกษตรระดับครัวเรือนเกษตรกร. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://210.86.142.119/ agriculturist/agri_info/topmenu.htm (7 ตุลาคม 2547).
ธวัชชัย รัตน์ชเลศ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์ และ จงรักษ์ มูลเฟย. 2548. ระบบการผลิตลำไยในเขตภาคเหนือตอนบน. หน้า 11-98. ใน รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการระบบสนับสนุนการวางแผนจัดการทรัพยากรเพื่อการเกษตรและบริการ ระยะที่ 1 ภาคเหนือตอนบน: องค์ความรู้และยุทธศาสตร์ในระบบการผลิตไม้ผล. ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่, เชียงใหม่.
นิกร ยาอินตา. 2547. การศึกษาปัญหาและความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาลในการประกันราคาลำไยปี 2547. บริษัท นิกรเทคโนการเกษตร จำกัด, เชียงใหม่. 72 หน้า.
นิรนาม. 2547. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกไม้ผลเป็นอันดับสองของเอเชีย สถานการณ์การผลิต ส่งออก และนำเข้าผลไม้ของประเทศในเอเชีย. สาระพืชสวน 9(2): 13-15.
พีรศิษฐ์ สมแก้ว. 2547. ทิศทางเกษตร: แนวทางลดพื้นที่ปลูกลำไยของกระทรวงเกษตรฯ. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www.dailynews.co.th/each. asp?newsid=32041 (26 สิงหาคม 2547).
ภานุ ขันธ์แก้ว. 2541. ตลาดส่งออกลำไยปัจจุบันและอนาคต. หน้า 29-37. ใน รายงานการสัมมนาทางวิชาการเชิงปฏิบัติการเรื่อง เทคโนโลยีการผลิตลำไยครบวงจร. 14-15 กันยายน 2541. ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ, เชียงใหม่.
ศูนย์สารสนเทศ สถาบันอาหาร. 2549. สถิติการนำเข้า-ส่งออก. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www. nfi.or.th/stat/statistic.asp (24 กุมภาพันธ์ 2549).
URL1. 2547. ชาวสวนลำไยใน จ.พะเยา ปิดถนนประท้วงเรียกร้องเพิ่มโควตารับซื้อลำไย. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www.manager. co.th/ViewNews.aspx?NewsID=9470000028860 (28 กรกฎาคม 2547).
URL2. 2547. เครือข่ายผู้ปลูกลำไยจี้ “ทักษิณ” นำวิกฤติลำไยเข้า ครม. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: www.manager.co.th/ViewNews.aspx?NewsID=9470000014765 (29 มิถุนายน 2547).