กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มมะม่วง

Main Article Content

จงรักษ์ มูลเฟย
ธวัชชัย รัตน์ชเลศ
พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ
รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์

บทคัดย่อ

ประเทศไทยเก็บเกี่ยวมะม่วงในแต่ละปีได้มากกว่า 1.7 ล้านตัน จึงถูกจัดเป็นผู้ผลิตสูงอันดับสามของโลก แต่การส่งออกมะม่วงทั้งสดและแปรรูปมีปริมาณเพียงร้อยละ 0.6 เท่านั้น ผลผลิตมะม่วงส่วนใหญ่จึงจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศ ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระความเสี่ยงด้านราคามาตลอด แต่ในส่วนน้อยของผู้ที่สามารถส่งออก ล้วนเกิดจากการรวมตัวกันเป็นกลุ่มทั้งสิ้น ขณะที่บางกลุ่มมีความก้าวหน้าจนถึงริเริ่มนำเอาหลักการของ “กลุ่มการตลาด” จากต่างประเทศมาใช้ ดังนั้นการพัฒนายุทธศาสตร์กลุ่มมะม่วง จึงน่าจะเป็นเส้นทางสู่ความสำเร็จของการขยายตัวอุตสาหกรรมมะม่วงเพื่อการส่งออกของประเทศไทย เอกสารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มมะม่วง โดยเน้นที่ผู้ผลิตเพื่อการส่งออก พร้อมทั้งข้อสรุปที่ได้รับ


กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มมะม่วง ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย 1) การสังเคราะห์ระบบการผลิตมะม่วง ที่ได้จากข้อมูลทุติยภูมิและจากโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่ 2) การเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเกษตรกร 3) การเยี่ยมชมสวน 4) ทัศนศึกษา และ 5) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ยุทธศาสตร์กลุ่มมะม่วง เมื่อ 26 สิงหาคม 2548


การเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่ม พบว่า องค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออกนั้น ได้มาจาก 3 ส่วน คือ 1) นักวิจัย 2) เกษตรกรผู้รู้ และ 3) องค์ความรู้ที่ร่วมกันผสานขึ้นระหว่างนักวิจัยและเกษตรกร ข้อหลังนี้นับว่ามีความสำคัญที่สุด ส่วนเงื่อนไขสู่ความสำเร็จด้านการผลิตและการตลาดอื่นยังต้องอาศัยความร่วมมือจาก เกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มทุกคน เจ้าหน้าที่จากภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้ประกอบการส่งออก


ข้อสรุปที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการมี 3 ส่วน ได้แก่ 1) การเลือกพันธุ์ สำหรับการส่งออกจำเป็นต้องเลือกพันธุ์น้ำดอกไม้ (สายต้นสีทองหรือเบอร์สี่) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศในปัจจุบัน 2) ปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมมะม่วง ประเด็นที่สำคัญคือ การให้บริการของรัฐที่ยังขาด ล่าช้าหรือไม่ทันต่อเหตุการณ์ ตลาดที่ยังมีอย่างค่อนข้างจำกัด ไม่หลากหลาย และมักไม่มีความแน่นอน ขาดการรวมกลุ่มของเกษตรกร กลุ่มที่มีอยู่แล้วยังขาดการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความแม่นยำของเทคโนโลยีด้านการผลิตคุณภาพสูง นอกจากนั้นยังขาดความเข้าใจที่ตรงกันในมาตรฐานสินค้า ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และ 3) ยุทธศาสตร์การพัฒนามะม่วงเพื่อการส่งออก ชี้ว่าจำเป็นต้องใช้แนวทางกลุ่ม/เครือข่าย/ภาคีพันธมิตร ในส่วนของสินค้าต้องมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ผลิตในราคาที่สามารถแข่งขันได้ และมีการปฏิบัติเชิงอนุรักษ์ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมส่งเสริมการเกษตร. 2548. สถิติการเกษตร. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www.doae.go. th/data/fruit/29.pdf (2 มีนาคม 2548).

กรมศุลกากร. 2548. สถิติการนำเข้า-ส่งออก. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www.customs. go.th/Statistic/StatisticResult.jsp?productCodeCheck=Y&productCode=0804500200&hsradio=thCheck&thKeyword=%C1%D0%C1%E8%C7%A7&statType=export&month=12&year=2004&Submit=Search (2 มีนาคม 2548).

รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์ ธวัชชัย รัตน์ชเลศ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และ จงรักษ์ มูลเฟย. 2549. กระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์ลำไย. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2548. ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่. 7 หน้า.

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. 2548. การส่งออกมะม่วงของไทย. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www.ops2.moc.go.th/ tradeth/cgi/ExComm2.asp (1 กันยายน 2548).

FAO. 2005. Agricultural productions. (Online). Available: http://faostat.fao.org/faostat/ servlet/XteServlet3?Areas=%3E872&Items=571&Elements=51&Years=2004&Format=Table&Xaxis=Years&Yaxis=Countries&Aggregate=&Calculate=&Domain=SUA&ItemTypes=Production.Crops.Primary&language=EN (30 August 2005).