สมรรถนะในการผสมพันธุ์เพื่อผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตระหว่างข้าวไร่และข้าวนาสวน

Main Article Content

พิมพ์นภา ขุนพิลึก
สุทัศน์ จุลศรีไกวัล
จักรี เส้นทอง
ดำเนิน กาละดี

บทคัดย่อ

ศึกษาสมรรถนะการผสมเพื่อผลผลิต และองค์ประกอบผลผลิตในการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวไร่และข้าวนาสวน โดยทดลองปลูกพันธุ์พ่อ-แม่ จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ กข 7  ปทุมธานี 1  เจ้าฮ่อ  และ  อาร์ 258 ร่วมกับลูกผสมชั่วที่ 2 ที่ได้จากการผสมแบบพบกันหมดจำนวน 6 คู่ผสม ปลูกทดลองในช่วงฤดูฝนระหว่าง เดือนกรกฎาคม 2545 – มกราคม 2546 ที่แปลงทดลองภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากการวิเคราะห์สมรรถนะการผสมทั่วไปและสมรรถนะการผสมเฉพาะพบว่าอายุออกดอก ความสูง จำนวนรวงต่อกอ จำนวนเมล็ดต่อรวง น้ำหนัก 1,000 เมล็ด โดยทุกลักษณะถูกควบคุมด้วยยีนส์ที่มีการกระทำแบบผลบวก (additive gene action) และไม่เป็นแบบผลบวก (non-additive gene action) แต่การกระทำของยีนส์ที่เป็นแบบผลบวกมีอิทธิพลมากกว่า ส่วนลักษณะผลผลิตเมล็ดต่อกอ พบว่าถูกควบคุมด้วยอิทธิพลของยีนส์แบบไม่เป็นผลบวกเพียงอย่างเดียว จากผลการประเมินค่าอิทธิพลของสมรรถนะการผสมทั่วไป พบว่า ข้าวไร่ทั้ง 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เจ้าฮ่อและอาร์ 258 เป็นพันธุ์พ่อ-แม่ที่ดีของการถ่ายทอดลักษณะออกดอกเร็ว ต้นสูง และขนาดเมล็ดใหญ่ ส่วนพันธุ์ข้าวนาสวน ได้แก่ พันธุ์ กข 7 และปทุมธานี 1 เป็นพ่อ-แม่ที่ดีของการถ่ายทอดลักษณะออกดอกช้า ต้นเตี้ย และจำนวนรวงต่อกอที่เพิ่มขึ้น การถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมข้าว โดยวิธีการประเมินค่าอัตราพันธุกรรมแบบกว้าง (broad-sense heritability) พบว่า อายุออกดอก ความสูง จำนวนรวงต่อกอ จำนวนเมล็ดดีต่อรวง น้ำหนัก 1,000 เมล็ด มีค่าค่อนข้างสูง แต่ลักษณะจำนวนเมล็ดดีต่อรวงและผลผลิตเมล็ดต่อกอมีค่าปานกลาง จากผลการศึกษาครั้งนี้ สรุปได้ว่า การปรับปรุงพันธุ์ข้าวไร่เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและมีองค์ประกอบผลผลิตที่ดีนั้น สามารถกระทำได้โดยวิธีการคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ข้าวไร่และข้าวนาสวน เพื่อให้ได้ลักษณะผลผลิตสูงและมีลักษณะทางพืชไร่ที่ดี

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

บริบูรณ์ สมฤทธิ์. 2537. ข้าวไทย: ปัญหาและการปรับปรุงพันธุ์. สถาบันวิจัยข้าว, กรุงเทพฯ. 123 หน้า.

เปรมฤดี ปินทยา. 2540. การถ่ายทอดลักษณะพันธุ์เบา ผลผลิตและลักษณะอื่นเชิงปริมาณของข้าวบาร์เลย์. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 76 หน้า.

สมเดช อิ่มมาก. 2536. โครงการวิจัยข้าวไร่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง หน้า 65-83 ใน: เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การพัฒนาข้าวและธัญพืชเมืองหนาว ครั้งที่ 5. ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกและสถานีทดลองเครือข่าย, กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ.

สมเดช อิ่มมาก, ภิไธย รื่นถวิล, พนัส สุวรรณ และสุชา สุทธายศ. 2544. การปรับปรุงพันธุ์ข้าวไร่ในภาคเหนือตอนล่าง. หน้า 73-74 ใน: รายงานผลงาวิจัยประจำปี 2541. สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ.

สุรางค์ศรี วาเพชร. 2537. การถ่ายทอดลักษณะพันธุ์เบา ผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตจากการผสมพันธุ์ข้าวระหว่างจาโปนิก้าและอินดิก้า. วิทยานิพน์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัย เชียงใหม่, เชียงใหม่. 87 หน้า.

Falconer, D. S. 1989. Introduction of Quantitative Genetics. Third edition. Longman, New York. 438 pp.

Griffing, B. 1956. Concept of general and specific combining ability in relation to diallel crossing system. Aust. J. Biol. Sci. 9: 463-493.

Kim, H. Y., J. K. Sohn, S. K. Lee and R. K. Park. 1981. Genetic studies on quantitative characters of rice plants by diallel crosses. II. Combining ability and gene analysis for days to heading culm length, panicle length and panicle number in F2 generation. Research Reports of the Office of Rural Development, Crop Year 1981. 23: 91-99.

Singh, D. P. and J. S. Nanda. 1976. Combining ability and suitability in rice. Indian Journal Genetic 36: 10-15.

Singh, N. K., N. B. Singh, P. B. Jha and V. K. Sharma. 1992. Combining ability analysis for yield components in rice. Annual of Agriculture Research 13(3): 224-227.

Verma, O. P., U. S. Santoshi and H. K. Srivastava. 2002. Heterosis and inbreeding depression for yield and certain physiological traits in hybrids involving diverse ecotypes of rice (Oryza sativa L.). Journal of Genetics & Breeding 56(3): 267-278.