ประสิทธิภาพของ CPPU ในการเพิ่มขนาดและคุณภาพ ของผลลำไยพันธุ์ดอ

Main Article Content

กมล พงษ์เขียว
พิทยา สรวมศิริ

บทคัดย่อ

ผลของการใช้ CPPU (N-(2-chloro-pyridyl)-N’-phenylurea) ในการเพิ่มขนาดและคุณภาพของผลลำไยพันธุ์ดอได้ดำเนินการที่สวนลำไยของเกษตรกรในเขตอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยวางแผนการทดลองแบบ RCBD ซึ่งประกอบไปด้วย 5 blocks (ต้น) และความเข้มข้นของ CPPU 4 ระดับ (กรรมวิธี) คือ 0 (น้ำกลั่น-วิธีควบคุม), 10, 20 และ 30 ppm ทำการสุ่มเลือกช่อลำไยที่มีอายุหลังติดผลแล้ว 12 สัปดาห์ (ระยะสร้างเนื้อผล) โดยมีจำนวนผลต่อช่อประมาณ 40 ผล และมีขนาดผลใกล้เคียงกัน จำนวน 5 ช่อในแต่ละต้น (block) ทำการจุ่มช่อผลลำไยตามกรรมวิธีดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า เมื่อจุ่มช่อผลลำไยที่ระดับความเข้มข้นของ CPPU 30 ppm สามารถทำให้ผลลำไยมีขนาดเฉลี่ยและน้ำหนักเฉลี่ยต่อผลเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งให้น้ำหนักเนื้อและปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) สูงสุดอีกด้วย แต่ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ (TA) ของเนื้อ ความหนาของเปลือกและค่าสีของเปลือกไม่มีความแตกต่างกันในทุกกรรมวิธี เมื่อพิจารณาทางด้านผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจก็พบว่า เมื่อใช้ CPPU ที่ระดับ 30 ppm สามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อต้นของลำไยจาก 741.23 บาท ในวิธีควบคุมเป็น 1,166.76 บาท หรือเพิ่มขึ้น  57.41 %

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

คีรี อำพันสวัสดิ์. 2540. ไม้ผลเศรษฐกิจ. กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ. 159 หน้า.
นพดล จรัสสัมฤทธิ์. 2537. ฮอร์โมนพืชและสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช. สำนักพิมพ์รั้วเขียว, กรุงเทพฯ. 128 หน้า.
นพดล จรัสสัมฤทธิ์ นพมณี โทปุญญานนท์ วินัย วิริยะ-อลงกรณ์ พาวิน มะโนชัย ธีรนุช จันทรชิต และพิชัย สมบูรณ์วงค์. 2543. การผลิตลำไย. โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยและลิ้นจี่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้, เชียงใหม่. 122 หน้า.
Famiani, E., A. Antognozzi, S. Tombesi, A. Moscatello and A. Battistelli. 1997. CPPU induced alterations in source-sink relationships in Actinidia deliciosa . Acta Hort. 463: 306-310.
Notodimedjo S. 2000. Effect of GA3, NAA and CPPU on fruit retention, yield and quality of mango (cv. Arumanis) in East Java. Acta Hort. 509: 587-600.