การประเมินสายต้นมะม่วงแก้วเพื่อการแปรรูปเป็น มะม่วงอบแห้ง

Main Article Content

ลำพอง แต้มครบุรี
ธวัชชัย รัตน์ชเลศ

บทคัดย่อ

มะม่วงแก้วเป็นพันธุ์เพื่อการแปรรูปสำคัญที่สุดของประเทศไทย การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดให้กับอุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้ด้วยการหาสายต้นที่เหมาะสมเพื่อการแปรรูป จึงเป็นกลยุทธทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบสนองเป้าหมายดังกล่าวได้ งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินสายต้นมะม่วงแก้วที่มีคุณลักษณะเหมาะสมต่อการแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้ง ศึกษาโดยใช้มะม่วงแก้ว 5 สายต้น ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงพันธุ์ เก็บเกี่ยวมะม่วงสายต้นคัดโดยตรงจากสวนของเกษตรกรในหลายจังหวัดภาคเหนือตอนบน นำผลที่แก่จัดและผลสุกมาทำการวัดและวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ หลังจากนั้นนำมะม่วงผลแก่จัดทุกสายต้นมาแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้ง ณ สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดลำปาง ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผลไม้อบแห้ง (มอก. 919-2532) ได้แก่ วัดเปอร์เซ็นต์ความชื้น แล้วนำผลิตภัณฑ์มาประเมินผลด้านประสาทสัมผัสด้วยวิธี hedonic scale ใช้ผู้ประเมินที่ผ่านการฝึกอบรม 15 คน ผลจากการทดลองพบว่า มะม่วงแก้วสายต้น MCC75 มีความเหมาะสมมากที่สุดสำหรับการแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้ง จากคะแนนด้าน สี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัส และการยอมรับโดยรวมสูงสุด จุดเด่นของสายต้นนี้เพื่อการแปรรูปโดยทั่วไปอยู่ที่ มีน้ำหนักผลปานกลาง (4-6 ผล/กก.) ผลแก่จัดสีผลสวย เขียวเข้ม และสม่ำเสมอ มีความแน่นเนื้อสูงวัดได้ 14 กก./ตร.ซม. ค่า TSS ค่อนข้างสูง วัดได้ 8.72 องศาบริกซ์ เนื้อมีสีเหลืองส้ม และค่าความเป็นกรด-เบสที่ 3.54  มีสัดส่วนของน้ำหนักเนื้อสูงถึง 70.4% และเมล็ดค่อนข้างเล็ก แต่คุณลักษณะที่เหมาะสมกับการแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้งคือ มีน้ำหนักเนื้อเหลือหลังอบแห้งสูง 453 กรัม จากเนื้อ  ก่อนอบแห้ง 1,000 กรัม ให้สีเหลืองเข้มน่ารับประทาน เหลือความชื้นในเนื้อระดับปานกลางที่ 13.7 % กลิ่นหอม รสชาติดี เนื้อสัมผัสอ่อนนุ่มไม่เหนียวหรือแข็งกระด้างจนเกินไป การศึกษานี้ยังได้ช่วยยืนยันว่า มะม่วงแก้ว MCC75 หรือ แก้วเชียงใหม่ เป็นมะม่วงแปรรูปสายต้นที่เหมาะสมสำหรับผู้ปลูกในภาคเหนือตอนบน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมศุลกากร. 2545. รายงานตามกลุ่มสินค้าพิเศษ : มะม่วง ข้อมูลประจำช่วงวันที่ 01/01/2002 ถึง 12/31/2002 [ระบบออนไลน์]. แหล่งข้อมูล http://www.nfi.or.th/import_export/ (27 ตุลาคม 2546).

ธวัชชัย รัตน์ชเลศ, พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และ รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์. 2544. รายงานความก้าวหน้างานวิจัย ครั้งที่ 3. โครงการ การคัดเลือก การพัฒนา และการขยายพันธุ์มะม่วงแก้วสำหรับที่ดอนอาศัยน้ำฝน. ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่. 88 หน้า.

ธวัชชัย รัตน์ชเลศ, พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และ รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์. 2545. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ฉบับที่ 1. โครงการ การคัดเลือก การพัฒนา และการขยายพันธุ์มะม่วงแก้วสำหรับที่ดอนอาศัยน้ำฝน. ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่. 78 หน้า.

ธีรวัลย์ ชาญฤทธิเสน และ อังคณา เชวงภูษิต. 2543. เอกสารประกอบการฝึกงานนักศึกษา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล, ลำปาง. 33 หน้า.

มณฑาทิพย์ ยุ่นฉลาด, ฉลองชัย แบบประเสริฐ, กาญจนารัตน์ ทวีสุข, ชิดชม ฮิรางะ และ ระจิตร จุฑากรณ์. 2541. การประเมินทางด้านประสาทสัมผัสของน้ำมะม่วงพร้อมดื่มพันธุ์ลูกผสมบรรจุกระป๋อง. อาหาร 28(3): 179-189.

รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์, ธวัชชัย รัตน์ชเลศ และ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ. 2546. การประเมินอัตราซ้ำของลักษณะเศรษฐกิจในมะม่วงแก้ว. ว. วิทย. กษ. 34(1-3 พิเศษ): 145-148.

สัมฤทธิ์ เฟื่องจันทร์, ฉลองชัย แบบประเสริฐ, โสฬส จินดาประเสริฐ, ทวีเกียรติ ยิ้มสวัสดิ์, อำนวย คำตื้อ, สมเกียรติ จันทรกระจ่าง, แววจักร กองพลพรหม, ประเสริฐ อนุพันธุ์, ไสว สุหร่าย และ วิจิตร วังใน. 2531. “มะม่วงพันธุ์ออนซอน, มรกต และพญาก้อม” การปรับปรุงพันธุ์มะม่วงเพื่อการค้าและอุตสาหกรรม. ว. วิทย. กษ. 21(6): 415-425.

สัมฤทธิ์ เฟื่องจันทร์, ทวีเกียรติ ยิ้มสวัสดิ์ และ โสฬส จินดาประเสริฐ. 2536. การคัดเลือกพันธุ์มะม่วงเพื่อใช้เป็นพันธุ์รับประทานผลสด พันธุ์แปรรูป และต้นตอ. แก่นเกษตร 21(3-4): 131-140.

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. 2532. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผลไม้แห้ง มอก. 919-2532. กระทรวงอุตสาหกรรม, กรุงเทพฯ. 13 หน้า.

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6. 2545. ข้อมูลมะม่วงแก้วทั่วประเทศในปี 2545. [ระบบออนไลน์]. แหล่งข้อมูล http://ndoae.doae.go.th (27 ตุลาคม 2546).

อภินันท์ เมฆบังวัน, สันติ ช่างเจรจา และ ชิติ ศรีตนทิพย์. 2547. การพัฒนาคุณภาพของผลมะม่วงสามปีโดยใช้ปุ๋ยโพแทสเซียม. สถาบันเทคโนโลยีราช-มงคล สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง, ลำปาง. 65 หน้า.