สื่อมวลชนกับการยอมรับวิทยาการแผนใหม่ (นวกรรม)และท้ศนคติบางประการ ของ เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

นรินทร์ชัย พัฒนพงศา

บทคัดย่อ

การแพร่ขยายของสื่อสารมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และภาพยนตร์ จากสังคมเมืองไปสู่สังคมเกษตรกรนับวันจะทับทวีขึ้นทุกที ได้มีผู้วิจัย และให้ความเห็นถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนดังกล่าวต่อเด็ก เยาวชน และประชากรวัยอื่น ๆ ในเชิงที่จะทำให้เกิดผลดีและผลเสียต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชากรผู้รับสารดังกล่าว ได้มากมาย Berelsen and others ได้ศึกษาการเลือกตั้งปี 1940 ในสหรัฐอเมริกาซึ่งรายงานไว้และมีการศึกษาตาม Trenaman and Mac Quail (1961) ถึงการเลือกตั้งใน สหราชอาณาจักรอีก 20 ปีต่อมา ต่างก็พบว่าสาระสำคัญของการรณรงค์ทางสื่อมวลชน เป็นสิ่งที่มีผลทำให้ผู้รับข่าวทางสื่อมวลชนนั้นได้ทราบและตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทางด้านการโฆษณาสินค้าก็เช่นกัน Stewart (1964) พบว่าหนังสือพิมพ์นิตยสารและโทรทัศน์ ที่ใช้โฆษณามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสิ่งที่ประชาชนทราบถึงชนิดและยี่ห้อสินค้าเหล่านั้น ในเรื่องขอบการให้ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ Holaday and Stoddard (1933) พบว่า เด็กอเมริกันเชื่อว่าสิ่งที่เห็นจากภาพยนตร์เกี่ยวกับประเทศต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนเรื่องราวของประเทศดังกล่าว ในขณะที่ญี่ปุ่นจัดแข่งกีฬาโอลิมปิกนั้น ได้มีการใช้สื่อมวลชนกระจายเรื่องราวขอความช่วยเหลือ ประสานงานจากกลุ่มชนต่าง ๆ ซึ่งการวิจัยของ Fujitake (1963) ก็พบว่าความเกี่ยวช้องของกลุ่มชนเป็นไปตามเนื้อหา และความเข้มข้นของการใช้สื่อมวลชน


นายนิโคลัส เบนเนต ที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษาขององค์การยูเนสโกซึ่งคลุกคลีและเข้าใจถึงปัญหาการจัดการศึกษาในประเทศด้อยพัฒนา เกือบทั่วโลกทั้งในลาตินอเมริกา อัฟริกา และอาเซีย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสื่อมวลชนต่อการพัฒนาชนบทในหนังสือการศึกษาในประเทศด้อยพัฒนาว่า "สื่อมวลชนใหม่ ๆ เหล่านี้ ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะอยู่ภายใต้ การควบคุมของกลุ่มชนชั้นสูงในเมืองมากกว่า และเหตุนี้เองจึงถ่ายทอดค่านิยมต่าง ๆ ที่ไม่เป็นผลดีโดยตรงต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลงชนบทอย่างรวดเร็วและคงเส้นคงวานัก.... (เบนเนต 1975 ) เมื่อได้ศึกษาวิจัยถึงสื่อสารมวลชนมานานกว่า 20 ปี กลุ่มนักสังคมวิทยา ด้านการสื่อความหมายแห่งโคลัมเบีย ซึ่งนำโดย Lazarsfeld and Merton (ปรากฏในหนังสือของ W. Schramm and A.F. Roberts 1971 pp. 554 -578) จึงได้กล่าวสรุปถึงอิทธิพลของวิทยุกระจายเสียงว่ามีอิทธิพลเทียมได้กับระเบิดปรมาณูทีเดียว


จากผลการวิจัยและการให้ความเห็นของผู้วิจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา แสดงถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนที่มีต่อการดำรงชีวิตของผู้รับสื่อมวลชนอย่างมาก ทำให้เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาที่จะวิจัยเพิ่มเติมว่าอิทธิพลดังกล่าวจะมีผลต่อการเผยแพร่วิทยาการใหม่ ๆ ทางเกษตรต่อค่านิยมเรื่องราวเชื่อถือโชคลางต่อความไม่พอใจในสภาพชีวิต สภาพเศรษฐกิจสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จนอาจฝันใฝ่ที่จะดิ้นรนสรรหาการเปลี่ยนแปลงในทางต่าง ๆ ด้วยหรือไม่ ซึ่งการวิจัยนี้เมื่อได้ทราบผลก็จะวิเคราะห์เสนอแนะข้อแก้ไขปรับปรุง การให้บริการด้านสื่อสารมวลชนแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

-