ผลของถ่านแกลบในนาข้าวเคมีและอินทรีย์เคมีต่อการปลดปล่อยก๊าซ CH4 การเจริญเติบโต และผลผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105

ผู้แต่ง

  • เสาวคนธ์ เหมวงษ์

คำสำคัญ:

ถ่าน, นาข้าวเคมี, นาข้าวอินทรีย์เคมี, การปลดปล่อยมีเทน

บทคัดย่อ

การใส่วัสดุอินทรีย์ในนาข้าวส่งผลให้มีการปลดปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) เพิ่มขึ้น ซึ่งถ่านถือว่าเป็นวัสดุอินทรีย์ที่มีปริมาณคาร์บอนและความเสถียรสูง มีผลทำให้ กิจกรรมของ Methanogenic bacteria ลดลง งานวิจัยนี้เป็นการดำเนินการวิจัยในไร่นาของเกษตรกร คัดเลือกพื้นที่ปลูกข้าว 2 รูปแบบ คือ นาข้าวเคมี และนาข้าวอินทรีย์เคมี วางแผนการทดลองแบบ RCBD มี 4 กรรมวิธี จำนวน 4 ซ้ำ ดังนี้ 1) ไม่มีการจัดการ 2) ถ่านแกลบ 3) วิธีการของเกษตรกร (ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง) และ 4) วิธีการของเกษตรกร+ถ่านแกลบ (ระยะกำเนิดช่อดอก) ผลการวิจัยพบว่า ในช่วงแรกของการเจริญเติบโตของข้าวทั้งนาข้าวเคมีและอินทรีย์เคมีไม่มีความแตกต่างกันระหว่างวิธีการใส่ถ่านแกลบกับวิธีการของเกษตรกร ชี้ให้เห็นว่าในช่วงแรกของการเจริญเติบโตของข้าวไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมี แต่ในนาข้าวเคมีการใส่ถ่านแกลบในวิธีของเกษตรกรที่ระยะ PI ช่วยเพิ่มศักยภาพการให้ผลผลิตได้สูงกว่าวิธีของเกษตรกร การใส่ถ่านแกลบอย่างเดียวในนาข้าวเคมีให้ผลผลิตข้าว สูงที่สุด คือ 150 กก. ต่อไร่ ในขณะที่นาข้าวอินทรีย์เคมีผลผลิตข้าวไม่แตกต่างกันระหว่างการใส่ถ่านแกลบ อย่างเดียวกับวิธีการของเกษตรกร (424 และ 425 กก. ต่อไร่ ตามลำดับ) การใส่ถ่านแกลบอย่างเดียวมีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าวเคมีสูงที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ 2 และ 3 หลังการปักดำ ในขณะที่นาข้าวอินทรีย์เคมีในวิธีของเกษตรกร มีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซมีเทนสูงที่สุด ในสภาพดินนาที่มีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำเมื่อเพิ่มอินทรียวัตถุ (ถ่านแกลบ) ลงไปจะกระตุ้นให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนมากขึ้น ส่วนในดินนาที่มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง การใส่ถ่านแกลบช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซ CH4

Author Biography

เสาวคนธ์ เหมวงษ์

สาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม นครพนม

เผยแพร่แล้ว

04-06-2019