Journal Information
บทความย้อนหลัง
-
พฤษภาคม- สิงหาคม 2567
ปีที่ 41 ฉบับที่ 2 (2024)วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ปีที่ 41 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2567) เป็นฉบับในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืชหลายชนิด ในหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาทั้งฝนทิ้งช่วง และน้ำท่วมจากพายุ ส่งผลให้บางพื้นที่ประสบปัญหาการเพาะปลูก และ/หรือพื้นที่การเพาะปลูกพืชถูกทำลาย การศึกษาวิจัยการผลิตและส่งเสริมวิชาการเกษตร ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศ ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เหมาะสม โดยเฉพาะกิจกรรมตั้งแต่ภาคการผลิตจนถึงการแปรรูป ที่ต้องเคร่งครัด ควบคุม ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
วารสารวิจัย ฯ ฉบับนี้ มีบทความที่น่าสนใจและหลากหลายตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จำนวน 20 เรื่อง อาทิ การใช้ข้อมูลการรับรู้ระยะไกลเพื่อศึกษาสมบัติบางประการของดินในพื้นที่เสี่ยงการเป็นดินกรดและดินเค็มภาคกลางของประเทศไทย การศึกษาการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชนิดป่าของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศศาสตร์ คุณสมบัติทางเคมีกายภาพและปริมาณกลูโคแมนแนนของผงบุกจากหัวบุกพันธุ์เนื้อทราย ที่ใช้วิธีการทำแห้งและ วิธีการสกัดแตกต่างกัน คุณสมบัติของแบคทีเรียที่คัดแยกได้จากน้ำในบ่อเลี้ยงปลา เพื่อใช้เป็นโพรไบโอติกในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบมันสำปะหลังพร้อมรับประทานด้วยวิธีไมโครเวฟ การตรวจสอบยีนต้านทานและการประเมินความต้านทานต่อโรคขอบใบแห้งในข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกในบางพื้นที่ของภาคเหนือ เป็นต้น
กองบรรณธิการ วารสารวิจัย ฯ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้ ได้แนวคิดในการต่อยอดศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป แล้วพบกันใหม่ในฉบับสุดท้ายของปีครับ
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
บรรณาธิการวารสารวิจัยฯ -
มกราคม - เมษายน 2567
ปีที่ 41 ฉบับที่ 1 (2024)วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ปีที่ 41 ฉบับที่ 1 (มกราคม – เมษายน 2567) วารสารวิจัย ฯ ฉบับนี้ เป็นฉบับแรกของปี 2567 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงครองแชมป์ที่ทั่วโลกและประเทศไทยให้ความสำคัญ ในขณะที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้มีการเพิ่มระดับความเข้มงวดปรับค่ามาตรฐานของ PM 2.5 โดยปรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเดิม 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปัญหาทรัพยากรน้ำ ก็เป็นปัญหาสำคัญโดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง จึงควรมีการวางแผนการใช้ประโยชน์จากน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราควรจัดการที่ดินให้ชุมชนทำเกษตรกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ประมง และกลุ่มเปราะบางด้วยการให้ความรู้ มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ลดผลกระทบต่อสังคม และการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ สร้างรายได้ลดความเหลื่อมล้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
วารสารวิจัย ฯ ฉบับนี้ มีบทความวิจัยที่น่าสนใจที่หลากหลายและสอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับสภาพแวดล้อมและเสถียรภาพในความหวานและผลผลิตของข้าวโพดหวาน ความผิดปกติของดอกเพศเมียที่มีการบานในฤดูและก่อนฤดูของลำไยพันธุ์อีดอและพวงทอง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดจนบทความวิจัยที่ด้านเกษตรอินทรีย์ เช่น การสกัดและทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสมุนไพรหนอนตายหยาก ผลของการสกัดด้วยคลื่นไมโครเวฟโดยไม่ใช้ตัวทำละลายต่อสารสำคัญบางชนิดจากใบกัญชง ที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพและยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) คุณลักษณะทางเคมีกายภาพและเจลแป้งเปียกของแป้งข้าวสาลีพื้นเมือง ปลูก ในภาคเหนือประเทศไทย ผลกระทบอุณหภูมิและเวลาไพโรไลซิสที่มีต่อคุณสมบัติถ่านชีวภาพและน้ำส้มควันไม้จากทางใบปาล์ม ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตชาภายใต้ระบบการเพาะปลูกที่ดีของเกษตรกร ที่เป็นสมาชิกของมูลนิธิโครงการหลวงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ตลอดจนงานวิจัยด้านการส่งเสริมการเกษตร ตามบริบทภูมิสังคมต่าง ๆ ที่น่าสนใจอีกหลาย ๆ เรื่องครับ แล้วพบกันใหม่ในฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ครับ
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
บรรณาธิการวารสารวิจัยฯ -
กันยายน - ธันวาคม 2566
ปีที่ 40 ฉบับที่ 3 (2023)วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ปีที่ 40 ฉบับที่ 3 (กันยายน–ธันวาคม 2566) เป็นฉบับสุดท้ายของปี พ.ศ. 2566 และอยู่ในช่วงท้ายปีของการเพาะปลูกพืชหลายชนิด ในหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ขาดแคลนน้ำ ส่งผลต่อการเติบโตของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว ผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด ในขณะที่ชาวสวนทุเรียน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มังคุด เงาะ และกาแฟ ซึ่งถือว่าเป็นผลผลิตหลักของภาคใต้ และการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือที่มีพื้นที่เพาะปลูกราวร้อยละ 80 ต้องปรับตัวต่อความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ และความผันผวนของราคา การใช้เทคโนโลยีการผลิต การเก็บเกี่ยว และการแปรรูป จะต้องพัฒนาเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงกันอย่างต่อเนื่อง วารสารวิจัย ฯ ฉบับนี้ ท่านจะได้พบกับบทความวิจัยและบทความวิชาการที่เกี่ยวกับวิชาการด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนวัตกรรมด้านการเกษตร และการส่งเสริมวิชาการเกษตรที่น่าสนใจจากหลากหลายประเด็นทั้งพืชและสัตว์ อาธิ เช่น ผลของการงดการให้น้ำในระยะการเจริญเติบโตทางสืบพันธุ์ที่แตกต่างกันและระยะเวลาการเก็บรักษาต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง การปนเปื้อนโลหะหนักและเชื้อจุลินทรีย์ในดีปลี การเพิ่มมูลค่าของสาหร่ายพวงองุ่น ประสิทธิภาพของสารอัลลีโลพาธีจากหญ้าก้นจ้ำขาวในการควบคุมวัชพืช ในด้านสัตว์น้ำ เช่น พิษเฉียบพลันของแอมโมเนียต่อลูกปลานิลที่เลี้ยงในระดับ pH ต่างกัน ความเข้มข้นที่เหมาะสมของสารสกัดแทนนินจากใบหูกวางต่อการงอกใหม่ของหางปลากัด การวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยฟาร์มอนุบาลลูกกบนาอัจฉริยะ และผลงานการศึกษาการส่งเสริมวิชาการเกษตรอีกหลากหลายเรื่อง วารสารวิจัย ฯ หวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย เพื่อเป็นการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อช่วยกันพัฒนาการเกษตรไทยให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป ในศุภวารดิถีขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2567 นี้ กระผมและกองบรรณาธิการของวารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ขอกราบอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงโปรดอภิบาลรักษา คุ้มครอง ปกป้อง ให้ทุกท่านได้ประสบแต่ความสุข ความเจริญ สุขภาพแข็งแรง มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และสุขสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาทุกประการด้วยเทอญ พบกันใหม่ในฉบับหน้าปี 2567 ครับ
ด้วยรักและเคารพ
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
บรรณาธิการวารสารวิจัยฯ -
พฤษภาคม - สิงหาคม 2566
ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 (2023)วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม - สิงหาคม พ.ศ. 2566) ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2 ของปี พ.ศ. 2566 ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืชหลายชนิด ในหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหา ฝนทิ้งช่วง ส่งผลต่อการรอดตายและการเจริญเติบโต แต่ก็เป็นช่วงที่ผลไม้ที่สำคัญ ๆ ทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยให้ผลผลิต สร้างรายได้ให้แก่เกษตรได้ชื่นใจพอควร อาทิเช่น อะโวคาโด ทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย กระท้อน มะละกอ ฯลฯ อย่างไรก็ดีนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการได้คาดการณ์ถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ ที่จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยลดต่ำลง ตามข้อมูลสถิติหากเกิดเอลนีโญเกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น เกษตรกรทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน จะต้องมีการวางแผนเตรียมตัวรับมือกับภัยแล้งที่อาจรุนแรงและยาวนาน ในส่วนของนักวิชาการและนักวิจัย ยังคงต้องมุ่งมั่นศึกษาวิจัยการผลิตและส่งเสริมวิชาการเกษตร ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของภัยแล้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญ และบริบทของสังคมสูงวัยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของประเทศ
วารสารวิจัย ฯ ฉบับนี้ ท่านจะได้พบกับบทความวิจัยที่น่าสนใจจากหลากหลายประเด็นและหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มีบทความวิจัยทั้งในส่วนของการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพระดับพันธุกรรม การผลิตพืช บทบาทของแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชภายใต้สภาวะเครียดจากความแล้ง การจัดการธาตุอาหารพืชในระบบไฮโดรโพนิกส์ การใช้ประโยชน์จากสารประกอบในพืช บทความวิจัยทางด้านปศุสัตว์และสัตว์น้ำ การส่งเสริมการเกษตร ผลกระทบของสังคมสูงวัยต่อผลิตภาพปัจจัยการผลิตรวมในภาคเกษตร และผลงานศึกษาวิจัยจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น
ท้ายนี้ วารสารวิจัย ฯ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้ ได้แนวคิดในการต่อยอดศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป แล้วพบกันใหม่ในฉบับสุดท้ายของปี ครับ
ด้วยรักและเคารพ
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
บรรณาธิการวารสารวิจัยฯ -
มกราคม - เมษายน 2566
ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 (2023)วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2566 - เมษายน 2566) นับเป็นการเดินทาง มายาวนานเข้าสู่ปีที่ 40 มุ่งมั่นในการตีพิมพ์บทความวิจัย เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร วารสารวิจัยฯ ฉบับนี้ เป็นฉบับแรกของปี 2566 นับเป็นช่วงเดือนที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน กล่าวคือผ่านความเย็นมาเจอความร้อน ในหลายพื้นที่ประสบกับพายุฤดูร้อนและลมมรสุมรุนแรง รวมถึงปัญหาจากฝุ่น PM2.5 ที่มาเยือนในช่วงฤดูหนาวยาวไปถึงต้นฤดูร้อนของทุกปี ซึ่งเป็นผลจากการเผาเศษวัสดุการเกษตรและการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อมอง ในภาพกว้างเป็นสถานการณ์ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน ซึ่งเป็นผลจากสภาวะอากาศที่แห้งแล้งในอนุภูมิภาคแม่โขงช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน โดยปี 2566 นี้ มีจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้นจากการเผาในที่โล่ง และเกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ในภาพรวมจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 93 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ซึ่งทางภาครัฐของทั้งสามประเทศได้จับมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยหวังว่าจะมีแนวโน้นที่ดีขึ้นในอนาคตครับ เราคงต้องติดตามสถานการณ์มลพิษจากหมอกควันนี้ต่อ ๆ ไป ครับ
วารสารวิจัยฯ ฉบับนี้ มีบทความวิจัยที่น่าสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่เทคโนโลยีการผลิตพืชต่าง ๆ และการปรับเปลี่ยนการผลิตในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การศึกษาการเติบโตคะน้าและมะเขือในไบโอชาร์ อิทธิพลของวันปลูกต่อการเจริญเติบโตของแก่นตะวัน การเติบโตและผลผลิตปาล์มน้ำมัน การใช้สารชีวภาพผลิตลำไยนอกฤดู เป็นต้น ในด้านการผลิตสัตว์ เช่น การทดลองสูตรอาหารไก่เนื้อที่มีส่วนผสมของวัสดุเพาะเห็ดถั่งเช่าสีทอง การศึกษาคุณค่าทางโภชนะและปริมาณทริปซินอินฮิบิเตอร์ในถั่วพร้าหลังผ่านความร้อนและการใช้ทดแทนกากถั่วเหลืองในอาหารของไก่พื้นเมือง การศึกษาวิจัยในการใช้ประโยชน์จากความหลากหลาย เช่น ผลของสารสกัดน้ำมันจระเข้ต่อความมีชีวิตรอด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในเซลล์เพาะเลี้ยงผิวหนังของมนุษย์ และการประยุกต์ใช้ในอาหารปลานิล การคัดแยกและคัดเลือกแบคทีเรียที่สามารถสกัดไคโตซานจากขยะเปลือกกุ้ง การศึกษาผลของแป้งรำข้าวต่อคุณภาพไส้กรอกอิมัลชัน ตลอดจนงานวิจัยด้านการส่งเสริมการเกษตร เน้นการศึกษาปัจจัยที่ผลต่อทั้งการปฏิบัติ และการยอมรับการผลิตตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม และเรื่องอื่น ๆ ตามบริบทภูมิสังคมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ แล้วพบกันใหม่ในฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ครับ
ด้วยรักและเคารพ
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
บรรณาธิการวารสารวิจัยฯ -
กันยายน - ธันวาคม 2565
ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 (2022)วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 3 เดือน กันยายน-ธันวาคม 2565 ยังคงอยู่ภายใต้สภาวการณ์และเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ปริมาณน้ำท่วมขังยังคงสร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบวงกว้าง ในเขตลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง และลุ่มน้ำท่าจีน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,178,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำ พื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำ และเส้นทางคมนาคมบางส่วน ผลิตผลภาคการเกษตรได้รับผลกระทบโดยตรง อีกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นคือ การประชุม APEC 2022 Thailand หรือ การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักของการประชุมนี้ คือ การพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตร เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่ง ของประชาชนในภูมิภาค
ในฐานะที่ประเทศเราเป็นประเทศหนึ่งที่มุ่งหวังในการผลิตและการส่งออกสินค้าภาคการเกษตร จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อรักษาเสถียรภาพให้ภาคการเกษตรดำรงคงอยู่ จะเห็นได้ว่าสภาวการณ์ภัยธรรมชาติต่าง ๆ และความผันผวนของภาวะทางเศรษฐกิจจะถาโถมเข้ามาในระดับใด ๆ นักวิจัยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวเพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงนวัตกรรมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม สอดคล้องและรองรับความร่วมมือด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไป ดังปรากฏในบทความทั้ง 15 บทความในฉบับนี้ ที่เริ่มจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ งานด้านการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ การวิเคราะห์เชิงพื้นที่ในการปลูกพืช การศึกษาการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ตลอดจนการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร เป็นต้น
ในศุภวารดิถีขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2566 กระผมและกองบรรณาธิการทุกท่าน ขออัญเชิญอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย โปรดดลบันดาลคุ้มครองให้นักวิจัย คณาจารย์ นิสิต และนักศึกษาทุกท่าน มีแต่ความสุข ความเจริญ ความสำเร็จ และความสมหวังตลอดปีใหม่นี้
ด้วยรักและเคารพ
รองศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
บรรณาธิการวารสารวิจัยฯ -
พฤษภาคม - สิงหาคม 2565
ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 (2022)วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2565 ฉบับนี้ออกมาพบกับท่านผู้อ่านภายใต้สภาวะความผันผวนทั้งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติ เกิดอุทกภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดคลื่นความร้อนในบางประเทศแถบยุโรปคร่าชีวิตคนไปไม่น้อย ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สภาวะข้าวยากหมากแพงเกิดขึ้นในหลายประเทศอันเนื่องจากการรบกันของรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ขาดปัจจัยการผลิต เกิดการกักตุนน้ำมัน ทำให้น้ำมันมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าขยับตัวสูงขึ้นซ้ำเติมชีวิตพี่น้องประชาชน ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้ให้ท่านผู้อ่านท้อแท้ หดหู่ นะครับ แต่อยากชวนคิดว่า ภายใต้วิกฤติต่าง ๆ ประเทศไทยของเรายังอุดมไปด้วยทรัพยากรซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าหลาย ๆ ประเทศ จึงขอฝากท่านผู้อ่าน ท่านนักวิจัย โปรดช่วยกันค้นคว้า วิจัย จากฐานทรัพยากรที่สมบูรณ์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องให้กินดี อยู่ดี และมีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป เช่นเดิมครับ เนื้อหาสาระของบทความในเล่มนี้จำนวน 15 เรื่อง พร้อมไปด้วยคุณค่าและองค์ความรู้ที่ท่านผู้อ่านนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสมครับ
แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
ด้วยรักและเคารพ
รองศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
บรรณาธิการวารสารวิจัยฯ
-
มกราคม - เมษายน 2565
ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 (2022)วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2565 - เมษายน 2565) ฉบับนี้ เป็นฉบับแรกของปี พ.ศ. 2565 เนื้อหาสาระยังคงความน่าสนใจอันหลากหลายที่ท่านผู้อ่านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือเกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร อาทิเช่น การประยุกต์ใช้ชานอ้อย ฟางข้าว และไมยราบยักษ์เป็นวัสดุเพาะเห็ดนางรมเทา หรือ ผลการใช้ปุ๋ยหมักมูลจิ้งหรีดและมูลหนอนนกอัดเม็ดต่อสมบัติดินและผลผลิตข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อัดแน่นไปด้วยสาระสำคัญเช่นเคย องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากงานวิจัยในเล่มนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัยทุกท่านได้ นำเอาไปประยุกต์ใช้ ตลอดจนเป็นแนวทางต่อยอด คิดค้นหัวข้อวิจัย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรยิ่ง ๆ ขึ้นไปครับ
สถานการณ์บ้านเมืองยังคงไม่มีความแน่นอนในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งด้านสาธารณะสุข การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ความผันแปรของราคาน้ำมันเนื่องจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย ยูเครนและการเมืองในประเทศ ที่การเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา รวมถึงความแปรปรวนของสภาวะอากาศที่หนาวเย็นกลางฤดูร้อนในเดือนเมษายน ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าว คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เราต้องเผชิญอย่างไม่สามารถคาดเดาได้ ขอทุกท่านจงผ่านพ้นทุกอุปสรรคไปด้วย สติ และความอดทน
พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
ด้วยรักและเคารพ
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
บรรณาธิการวารสารวิจัยฯ
-
กันยายน-ธันวาคม 2564
ปีที่ 38 ฉบับที่ 3 (2021)วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ฉบับ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3 เดือน กันยายน – ธันวาคม 2564 ฉบับสุดท้ายของปี พ.ศ.2564 รอบปีที่ผ่านมาทุกท่านคงประจักษ์ถึงความไม่แน่นอนของสภาวะ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง ที่ผันผวน ปรวนแปร ไม่เฉพาะในประเทศแต่ปรากฏให้เห็นในทุกภูมิภาคทั่วโลก
อย่างไรก็ตามชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป เราไม่สามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับการดำเนินชีวิตแต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับชีวิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนไปของสภาวะแวดล้อมและต้องช่วยกันดูแล รักษา ปกป้อง สิ่งแวดล้อมนี้ให้อยู่ดีเพื่อให้มนุษย์ อยู่ได้อย่างมีความสุขภายใต้การดูแลปกป้องของสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
เนื้อหาสาระของบทความวิจัยในเล่มนี้มีความหลากหลายในองค์ความรู้ที่ท่านนักวิจัย ได้นำเสนอทั้งหมด 15 เรื่อง ล้วนเป็นสิ่งทีน่าสนใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือ ปรับประยุกต์ใช้ทั้งด้านการวิจัยต่อยอด หรือ นำไปใช้ในภาคปฏิบัติโดยตรง อาทิเช่น การเกษตรในเมืองกับ BCG Economic Model Urban Agriculture and BCG Economic Model และ การเพิ่มมูลค่าเนื้อผลกาแฟเป็นสารเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นต้น
ในศุภวารดิถีขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565 กระผมและกองบรรณาธิการทุกคนของวารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ขอกราบอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงโปรดอภิบาลรักษา คุ้มครอง ปกป้อง ให้ทุกท่านได้ประสบแต่ความสุข ความเจริญ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และอุปัทวันตรายทั้งปวงด้วยเถิด
พบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ
ด้วยรักและเคารพ
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
บรรณาธิการวารสารวิจัยฯ
-
พฤษภาคม-สิงหาคม 2564
ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 (2021)วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ปีที่ 38 ฉบับที่ 2 เดือน พฤษภาคม ถึง สิงหาคม พ.ศ. 2564 ฉบับนี้ได้บรรจุเนื้อหาสาระอัดแน่นทางวิชาการให้ท่านผู้อ่านได้เลือกอ่านเพื่อประโยชน์ด้านต่างๆ จำนวน 14 เรื่องด้วยกัน มีความหลากหลายในหัวข้อที่น่าสนใจ เพราะทางกองบรรณาธิการมีความเชื่อมั่นว่า ในความหลากหลายของเนื้อหาสาระจะยังประโยชน์ให้กับท่านผู้อ่าน ได้รับความรู้ทางด้านวิชาการในหลากหลายมุมมอง เพื่อจะนำความรู้ที่หลากหลายไปใช้ และ/หรือประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องเกษตรกรของเราได้ กินดี อยู่ดี มีสุข
ผมเขียนบทบรรณาธิการ ฉบับนี้ด้วยความรู้สึกที่ หดหู่ และ เป็นห่วงพี่น้องร่วมชาติ ที่ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID 19) ที่มีการแพร่กระจายไปทั่วประเทศ มีผู้ติดเชื้อ เกือบสองหมื่นคนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คน ต่อวัน สถานการณ์ดังกล่าวกระทบอย่างรุนแรงทางด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง พี่ของน้องประชาชนทั่วประเทศ หวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในเร็ววันนี้ เพื่อความสุข ความสงบ จะได้กลับคืนมาสู่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน และขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านแคล้วคลาดจากโรคภัย มีสุขภาพกายและจิตที่เข้มแข็ง สมบูรณ์ ฟันฝ่าเหตุการณ์วิกฤตินี้ไปได้ทุกท่านนะครับ เราจะอดทน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสและมีความหวังเสมอ เดี๋ยวมันก็ผ่านไปครับ
ด้วยรักและเคารพ
รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีเงินยวง
บรรณาธิการวารสารวิจัยฯ