ความรู้และการปฏิบัติในการใช้สารเคมีที่ถูกต้องของเกษตรกรผู้ปลูกฟักทองญี่ปุ่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้แต่ง

  • นฤเบศร์ รัตนวัน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • วรทัศน์ อินทรัคคัมพร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คำสำคัญ:

การใช้สารเคมีที่ถูกต้อง., ความรู้และการปฏิบัติ, ฟักทองญี่ปุ่น

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาลักษณะพื้นฐานส่วนบุคคล เศรษฐกิจ และสังคมของเกษตรกรผู้ปลูกฟักทองญี่ปุ่น 2) เพื่อศึกษาความรู้และการปฏิบัติในการใช้สารเคมีที่ถูกต้องของเกษตรกร 3) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรู้และการปฏิบัติในการใช้สารเคมีที่ถูกต้องของเกษตรกร และ 4) เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะในการใช้สารเคมีของเกษตรกร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษา คือ เกษตรกรผู้ปลูกฟักทองญี่ปุ่นจำนวน 116 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าถดถอยพหุแบบขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression Analysis)
ผลการศึกษาพบว่า 1) เกษตรกรร้อยละ 52.49 เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 41.18 ปี เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.59 ได้รับการศึกษาและประสบการณ์ในการปลูกฟักทองญี่ปุ่นเฉลี่ย 9.31 ปี ขนาดพื้นที่ปลูกฟักทองญี่ปุ่นจำนวนเฉลี่ย 6.11 ไร่ จำนวนแรงงานในการปลูกฟักทองญี่ปุ่นเฉลี่ย 6.21 คน รายได้รวมจากการปลูกฟักทองญี่ปุ่นเฉลี่ย 90,600 บาท/ปี รายได้นอกภาคเกษตรกรรมเฉลี่ย 6,844.73 บาท/ปี รายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ย 4,465.51 บาท/เดือน ภาระหนี้สินคงค้างเฉลี่ย 68,978.49 บาท จำนวนแหล่งสินเชื่อในการปลูกฟักทอง ญี่ปุ่นเฉลี่ย 1.21 แหล่ง เข้ารับการฝึกอบรมเฉลี่ย 1.70 ครั้ง/ปี เกษตรกรได้รับข่าวสารทางด้านการเกษตร เฉลี่ย 4.41 ครั้ง/3 เดือน แหล่งข่าวสารที่ได้รับประโยชน์ มากที่สุด คือ ข่าวสารจากเจ้าหน้าที่โครงการหลวง โดยมีค่าเฉลี่ย 2.58/3 เดือน 2) เกษตรกรมีความรู้อยู่ในระดับสูง เฉลี่ย 80.17 มีการปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นประจำ 3) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรู้และการปฏิบัติ ในการใช้สารเคมีที่ถูกต้องของเกษตรกร พบว่า ประสบการณ์ในการปลูกฟักทองญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ เชิงลบ และจำนวนพื้นที่ในการปลูกฟักทองญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) กับความรู้ในการใช้สารเคมีที่ถูกต้องของเกษตรกรผู้ปลูกฟักทองญี่ปุ่น ส่วนระดับการศึกษา มีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) กับการปฏิบัติในการใช้สารเคมีที่ถูกต้องของเกษตรกรผู้ปลูกฟักทองญี่ปุ่น 4) ปัญหาในการใช้สารเคมีของเกษตรกร คือ ผสมสารเคมีเกินอัตราส่วนที่ฉลากระบุ ฉีดพ่นสารเคมีเกินอัตราความถี่ที่ฉลากระบุ หลังจากการฉีดพ่นสารเคมีในแปลงไม่มีการติดป้ายและทำเครื่องหมายเพื่อแจ้งให้บุคคลอื่นทราบว่าเป็นพื้นที่ที่เพิ่งทำการฉีดพ่นสารเคมี ข้อเสนอแนะของเกษตรกร คือ ควรมีการ จัดอบรมเกี่ยวกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผ่านกลุ่มย่อย และจัดให้มีการอบรมอย่างสม่ำเสมอ ส่วนข้อเสนอแนะในการวิจัยในครั้งนี้ คือ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรจัดอบรมให้ความรู้และคำแนะนำในประเด็นที่เกษตรกร ยังมีความรู้น้อย รวมไปถึงผลกระทบจากพิษภัยของสารเคมี ที่เกษตรกรจะได้รับ เพื่อสร้างความตระหนักและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง หากมีการส่งเสริมเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรเกี่ยวกับการใช้สารเคมี ควรให้ความรู้ผ่านผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ค้นพบจากการวิจัย เพื่อที่ส่งเสริมกับบุคคลอื่นๆ ต่อไป

Author Biographies

นฤเบศร์ รัตนวัน, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาควิชาพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วรทัศน์ อินทรัคคัมพร, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ภาควิชาพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เผยแพร่แล้ว

11-05-2018