ผลของระยะปลูกที่มีต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตฟ้าทะลายโจร

Main Article Content

สมยศ เดชภิรัตนมงคล
โสมนันทน์ ลิพันธ์
สมมารถ อยู่สุขยิ่งสถาพร
หัตถ์ชัย กสิโอฬาร

บทคัดย่อ

ฟ้าทะลายโจร (Andrographis paniculata (Burm. f.) Nees) เป็นพืชสมุนไพรที่มีความสำคัญมากที่สุดชนิด
หนึ่งของประเทศไทย อย่างไรก็ตามการพัฒนาเทคนิคทางด้านการเกษตรเพื่อปลูกเป็นการค้ายังมีการศึกษา
กันน้อยมาก การจัดการเกี่ยวกับระยะปลูกนับว่ามีความสำคัญมากต่อผลผลิตพืช ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้ทำขึ้นเพื่อต้อง
การทราบถึงผลของระยะปลูก 5 แบบที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตฟ้าทะลายโจรพันธุ์พื้นเมือง 4 พันธุ์ ซึ่งได้ทำการ
ทดลองในเดือนตุลาคม พ.ศ.2558 ถึง มกราคม พ.ศ.2559 ที่คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ วางแผนการทดลองแบบ split plot มีจำนวน 3 ซ้ำ main plot คือ
ฟ้าทะลายโจรพันธุ์พื้นเมือง 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พิษณุโลก 5-4, ปราจีนบุรี, ราชบุรี และพิจิตร 4-4 ส่วน sub plot ได้แก่
ระยะปลูกที่แตกต่างกัน 5 แบบ คือ 20x20, 30x30, 40x40, 50x50 และ 60x60 เซนติเมตร ผลการทดลอง พบว่า
ความสูง น้ำหนักแห้งต่อต้นของลำต้น ใบ และราก รวมทั้งน้ำหนักแห้งรวมต่อต้นของฟ้าทะลายโจรพันธุ์ปราจีนบุรี
มีค่ามากที่สุด รองลงมาคือพันธุ์ราชบุรี, พิจิตร 4-4 และพิษณุโลก 5-4 ตามลำดับ การปลูกโดยใช้ระยะปลูกที่กว้างขึ้น
จะมีน้ำหนักแห้งต่อต้นของใบ ลำต้น ราก และน้ำหนักแห้งรวมต่อต้น (กรัมต่อต้น) เพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ
ระยะปลูกที่แคบ การปลูกโดยใช้ระยะปลูกแคบที่สุด คือ 20x20 เซนติเมตร จะให้มีผลผลิตน้ำหนักใบสดและแห้ง
(กรัมต่อตารางเมตร) มากที่สุด ในขณะที่การปลูกโดยใช้ระยะปลูกกว้างที่สุด คือ 60x60 เซนติเมตร ฟ้าทะลายโจร
มีผลผลิตน้ำหนักใบสดและแห้งน้อยที่สุด

Article Details

บท
บทความวิจัย