ศึกษาการปลดปล่อยไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ต่อพืชในดินที่มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ
Main Article Content
บทคัดย่อ
ปุ๋ยอินทรีย์ถือได้ว่าเป็นกุญแจหลักสำหรับการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ มีหลากหลายชนิดตามวัตถุดิบที่ใช้หรือแหล่งที่มา ทำให้มีความสามารถในการปลดปล่อยธาตุอาหารพืชในรูปที่เป็นประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของชนิดดินและปุ๋ยอินทรีย์ต่อปริมาณและอัตราการปลดปล่อยไนโตรเจนที่เป็นประ โยชน์ต่อพืชในช่วงระยะเวลา 1ปี ดำเนินการทดลองในกระถาง ณ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วางแผนการทดลองแบบ 4x4 แฟกเทอเรียล แบบสุ่มภายในบล็อคสมบูรณ์จำนวน 3 ซ้ำ ปัจจัยหลักประกอบด้วย ดิน 4 ชุดดินที่มีเนื้อดินแตกต่างกัน (ดินแม่แตง หางดง สันทราย และแม่ริม) และปัจจัยรอง ได้แก่ การไม่ใส่และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 3 ชนิด (ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน) ในอัตรา 2 ตันต่อไร่ คำนวนปริมาณไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ต่อพืชจากการดูดใช้ไนโตรเจนของหญ้ารูซี่ที่ระยะ 30, 60, 90, 150, 240 และ 360 วันหลังปลูก และศึกษาอัตราการปลดปล่อยไนโตรเจนในดินจากความสัมพันธ์ระหว่างการดูดใช้ไนโตรเจนและระยะเวลาโดยใช้สมการถดถอยเชิงเส้นอย่างง่าย ผลการทดลองพบว่าปริมาณไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์ต่อพืชและอัตราการปลดปล่อยไนโตรเจนสูงที่สุดในดินแม่แตงและหางดงเมื่อมีการใส่ปุ๋ยคอกโดยมีปริมาณไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์เท่ากับ 769 และ 768 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการปลดปล่อยไนโตรเจนในดินทั้งสองชนิดเมื่อใส่ปุ๋ยคอกเท่ากับ 2.40 และ 2.10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ตามลำดับ ปริมาณไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์และอัตราการปลดปล่อยไนโตรเจนมีความสัมพันธ์กับปริมาณอินทรียวัตถุของปุ๋ยอินทรีย์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจ เท่ากับ 0.885** และ 0.897** ตามลำดับ
Article Details
วารสารเกษตรพระจอมเกล้า