ปลาส้มเขื่อนอุบลรัตน์ : แนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตปลาส้ม ของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านโนนปอแดง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู

Main Article Content

สาริกา จันทร์ชมภู
กัญลยา มิขะมา
ยศ บริสุทธิ์

บทคัดย่อ

ปลาส้มเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นสินค้าของชุมชนบริเวณเหนือเขื่อนที่ได้นำปลามาแปรรูป จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า
มีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์จำนวนกว่า 115 วิสาหกิจชุมชน ที่ทำการแปรรูปปลาเป็นปลาส้ม และพบว่ามีเพียง 10 วิสาหกิจชุมชนเท่านั้น ที่แปรรูปปลาส้มได้รับการรับรองมาตรฐาน ส่วนวิสาหกิจชุมชนอื่นซึ่งรวมถึงวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านโนนปอแดง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ยังมิได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลาส้มที่แปรรูปแต่อย่างใด จึงเกิดความคิดริเริ่มโดยมีคำถามวิจัยว่า วิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านโนนปอแดงมีแนวทางในการพัฒนาการผลิตปลาส้มอย่างไร จึงจะสามารถยกระดับการผลิตปลาส้มให้ได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง โดยได้ทำการวิจัยแบบมีส่วนร่วม
เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการผลิตปลาส้มของวิสาหกิจชุมชน ในเดือนมิถุนายน 2556 ถึง เดือนกรกฎาคม 2557 พบว่า ชุมชนบ้านโนนปอแดงเป็นชุมชนเกษตรกรรม โดยวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาบ้านโนนปอแดง เกิดจากการรวมกลุ่มกันภายใต้โครงการความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเขื่อนอุบลรัตน์ จากการวิเคราะห์ความจำเป็น พบว่า วิสาหกิจชุมชนมีประเด็นในการพัฒนา 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การพัฒนาโรงเรือนในการผลิต 2) การพัฒนาการผลิต
สู่การผลิตที่ได้มาตรฐาน 3) การพัฒนาการบริหารจัดการ และ 4) การขยายการตลาด ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาการผลิตปลาส้มให้ได้มาตรฐาน โดยการประสานหน่วยงานภาคี เพื่อให้คำปรึกษาเบื้องต้นด้านการพัฒนาการผลิตปลาส้ม และพัฒนาความรู้ด้านการพัฒนาการผลิตปลาส้ม และศึกษาดูงานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปปลาที่ประสบความสำเร็จ ได้รับ
การรับรองมาตรฐานการผลิต ได้ร่วมกันวางแผนการพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตปลาส้มให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนได้แนวทาง
ในการพัฒนาเพื่อยกระดับการผลิตปลาส้มของวิสาหกิจชุมชน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การพัฒนาอาคารสถานที่ โดยการพัฒนาโรงเรือนตามหลัก Primary GMP 2) การพัฒนาการผลิต โดยการพัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐานอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มาตรฐาน OTOP และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 3) พัฒนาการบริหารจัดการ โดยการระดมทุนและขยายสมาชิกเพิ่มเติม และ 4) การพัฒนาการตลาด โดยการขยายช่องทางการตลาดในรูปแบบตลาดออนไลน์

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

โกวิทย์ พวงงาม. 2545. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน. กรุงเทพฯ: เสมาธรรม.
คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู. 2558. รายงานข้อมูลวิสาหกิจชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู. หนองบัวลำภู: สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กรมส่งเสริมการเกษตร.
ชินญาณ สระแก้ว และชัยชาญ วงศ์สามัญ. 2556. ความต้องการฝึกอบรมด้านการแปรรูปอาหารและการตลาดของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
ในจังหวัดขอนแก่น. แก่นเกษตร 14 (พิเศษ): 673-677.
ปัณณ์ณัช ธนัทพรรษรัตน์. 2558. การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนโดยใช้วิธีการวิจัยแบบมีส่วนร่วม กรณีศึกษา: ผลิตภัณฑ์ของใช้
ในครัวเรือน บ้านคลองเดื่อพัฒนา ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี. วิจัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ 7: 76-89.
ยศ บริสุทธิ์. 2558. การศึกษาชุมชน: แนวคิดฐานการวิจัยและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์. ขอนแก่น: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ศศิวิมล จุลศิลป์. 2553. การพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้จัดการศึกษาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน: การประยุกต์ใช้กระบวนการเอไอซีที. วารสารเทคโนโลยีสุรนารี 4 (2): 17-31.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. 2555. คู่มือการขออนุญาตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดี
ในการผลิตอาหาร (Primary GMP). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. 2557. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน: ปลาส้ม มผช. 26/2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม.
Thrupp, L., Cabarle, B., and Zazueta, A. 1994. Participatory methods in planning & political processes: Linking the grassroots & policies for sustainable development. Agriculture and Human Values 11 (2): 77-84.