ผลของสารฆ่าราบางชนิดต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อ <I>Colletotrichum gloeosporioides</I> สาเหตุโรคหอมเลื้อย
Main Article Content
บทคัดย่อ
จากการเก็บตัวอย่างโรคหอมเลื้อยของหอมแดง และหอมหัวใหญ่ จากพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน จำนวน 5 พื้นที่ มาแยกเชื้อสาเหตุด้วยวิธีการแยกเชื้อจากชิ้นพืช พบเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides จำนวน 5 ไอโซเลท มีลักษณะโคโลนีสีขาวจนถึงสีเทา สร้างกลุ่มสปอร์สีส้มอ่อนตรงกลางโคโลนีเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น หลังเลี้ยงบนอาหาร potato dextrose agar (PDA) เป็นเวลา 7-9 วัน เส้นใยใสไม่มีสี มีผนังกั้น conidia เป็นรูปทรงกระบอก หัวและท้ายมน มีเซลล์เดียว เมื่อทดสอบความสามารถในการก่อให้เกิดโรค พบว่า ต้นกล้าหอมแดงที่ผ่านการปลูกเชื้อทั้ง 5 ไอโซเลท เกิดแผลที่ใบและแสดงอาการใบเลื้อยเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม โดยไอโซเลท 2, 3 และ 4 แสดงอาการของโรครุนแรงที่สุด เมื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารฆ่าราจำนวน 6 ชนิด คือ carbendazim, azoxystrobin, difenoconazole, azoxystrobin ผสม difenoconazole, maneb และ mancozeb ด้วยวิธีผสมลงในอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ที่ระดับความเข้มข้นต่าง ๆ ได้แก่ ความเข้มข้นตามอัตราแนะนำ, 1 ใน 2 ของอัตราแนะนำ, 1 ใน 4 ของอัตราแนะนำ และ 1 ใน 8 ของอัตราแนะนำ พบว่า สารฆ่ารา carbendazim ที่ทุกความเข้มข้น มีประสิทธิภาพสูงสุดในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 100%, ในทุกระดับความเข้มข้น ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับสารฆ่าราที่มีประสิทธิภาพต่ำสุดในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา คือ mancozeb โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 19.33, 18.56, 14.33 และ 12.67% ตามลำดับ และจากการทดสอบประสิทธิภาพของสารฆ่าราทั้ง 6 ชนิด ที่ระดับความเข้มข้นข้างต้น โดยแช่ก้อนเชื้อรา C. gloeosporioides ในสารฆ่ารา พบว่า สาร carbendazim ทุกความเข้มข้น มีประสิทธิภาพสูงสุดในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราเช่นกัน โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเฉลี่ยเท่ากับ 100.00, 100.00, 100.00 และ 90.00 % ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับสารฆ่าราที่มีประสิทธิภาพต่ำสุดในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา คือ maneb โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเฉลี่ยที่ 2.78, 1.39, 1.39 และ 0.00% ตามลำดับ
Article Details
References
นิจศิริ เรืองรังษี. 2542. เครื่องเทศ. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ. 205 หน้า.
นิตยา กันหลง. 2545. สมุดภาพโรคสำคัญของพืชสกุลหอมกระเทียมในประเทศไทย. เอกสารวิชาการ. กรมวิชาการเกษตร. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ. 197 หน้า.
วรุตม์ ใจปิน และสรัญยา ณ ลำปาง. 2557. ผลของเชื้อแอกติโนไมซีสจากดินต่อการเจริญของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสของสตรอว์เบอร์รีที่ต้านทานต่อคาร์เบนดาซิม. วารสารเกษตร 30(1): 1-10.
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2558. ข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตร. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www.oae.go.th/ewt_news.php?nid=13577 (4 กันยายน 2558).
Ebenebe, A.C. 1980. Onion twister disease caused by Glomerella cingulata in Northern Nigeria. Plant Disease 64(11): 1030-1032.
Lim, T.K. 1980. Chemical control of mango anthracnose in Malaysia in vitro fungitoxicity of selected chemicals. Pertanika 3(1): 5-9.