ปัจจัยที่สัมพันธ์กับแรงจูงใจของทายาทเกษตรกรในการสานต่ออาชีพเกษตรในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

ศันสนีย์ กระจ่างโฉม
สุดารัตน์ อุทธารัตน์
ณัฐสิทธิ์ ศรีนุรักษ์
อุบลรัตน์ หยาใส่

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) สถานภาพทั่วไปของทายาทเกษตรกรและครอบครัว ในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ 2) ปัจจัยที่สัมพันธ์กับแรงจูงใจในการสานต่ออาชีพเกษตรของทายาทเกษตรกร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ทายาทเกษตรจำนวน 386 ราย โดยวิธีการสุ่มแบบง่าย ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ สถิติพรรณนา และทดสอบสมมติฐานโดยใช้การวิเคราะห์ถดถอยพหุ ผลการศึกษาพบว่า ทายาทเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 19 ปี ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/ นักศึกษา ครอบครัวของทายาทเกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนเกษตรกรรม ต้องการให้ทายาทเกษตรกรสืบทอดอาชีพเกษตร ส่วนคนในชุมชนเห็นว่าอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่ทำแล้วเหน็ดเหนื่อย ต้องใช้ความอดทนสูง มีความเสี่ยงจากภาวะสินค้าล้นตลาด เสี่ยงจากภัยธรรมชาติ มีรายได้น้อย ทำแล้วยากจน ต้องกู้ยืมเงินมาประกอบอาชีพ แต่คนในชุมชนเกินกว่าครึ่งยังคงต้องการให้ลูกหลานประกอบอาชีพเกษตร


ด้านทัศนคติของทายาทเกษตรกรเห็นว่า เป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อชุมชนและประเทศชาติ สอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อมของชุมชน ทำให้มีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน และควรสืบทอดอาชีพต่อจากบรรพบุรุษ ส่วนแรงจูงใจในการสานต่ออาชีพเกษตรนั้น ทายาทเกษตรกรให้ความสำคัญต่อแรงจูงใจด้านความสำเร็จในชีวิตมากที่สุด แรงจูงใจด้านการยอมรับหรือความผูกพัน แรงจูงใจด้านสุขภาพร่างกาย แรงจูงใจด้านความมั่นคงปลอดภัย และแรงจูงใจด้านการได้รับการยกย่องนับถือ การมีความรู้ความสามารถ ตามลำดับ


ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับแรงจูงใจในการสานต่ออาชีพเกษตรของทายาทเกษตรกรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 หรือต่ำกว่า ได้แก่ 1) ระยะเวลาในการทำการเกษตรกรของครอบครัว 2) การได้รับข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรจากแหล่งต่าง ๆ และ 3) ทัศนคติต่อการประกอบอาชีพเกษตรของทายาทเกษตรกร ข้อเสนอแนะจากการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ควรสร้างแรงจูงใจให้ทายาทเกษตรกรหันมาสนใจอาชีพเกษตร โดยเน้นการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการการเกษตร เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรใหม่ ๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองราคาสินค้าเกษตร รวมถึงหาตลาดในการรองรับผลผลิต เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวเกษตรกร

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

คณะกรรมการจัดทำข้อมูลสำหรับใช้คำนวณตัวเลขผู้ขาดสารอาหาร. 2556. รายงานการวิเคราะห์ความมั่นคงทางอาหารและภาวะโภชนาการของไทย พ.ศ. 2548-2554. กรุงเทพฯ: บริษัทธรรมดาเพรส จำกัด. 61 หน้า.
ฉัตยาพร เสมอใจ. 2550. พฤติกรรมผู้บริโภค. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคเนชั่น. 256 หน้า.
ชูศักดิ์ จรูญสวัสดิ์. 2551. การวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้สถิติในงานวิจัย. กรุงเทพฯ: บริษัท ส.เสริมมิตรการพิมพ์ จำกัด. 209 หน้า.
ธานินทร์ ศิลป์จารุ. 2553. การวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วย SPSS. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพ: บริษัท เอส อาร์ พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์ จำกัด. 520 หน้า.
นรินทร์ชัย พัฒนพงศา. 2542. การสื่อสาร-รณรงค์เชิงยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์เน้นการเจาะจงกลุ่ม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์รั้วเขียว. 280 หน้า.
นิเวศน์ อินตารัตน์. 2543. บทบาทของครูเกษตรต่อการส่งเสริมอาชีพเกษตรในโรงเรียนมัธยมศึกษา จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 108 หน้า.
พีรเดช ทองอำไพ. 2554. เกษตรไทยในอนาคต. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: www.ladda.com/managedataladda/journal/agriculturethailand.pdf. (2 พฤษภาคม 2556)
ยศ บริสุทธิ์ และชนินทร์ แก้วคะตา. 2558. เงื่อนไขฐานรากในการเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรและบุตรหลานเกษตรกร. วารสารเกษตร 31(2): 215-244.
สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่. 2554. ข้อมูลพื้นฐานการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2554. (ระบบออนไลน์). แหล่งที่มา www.chiangmai.doae.go.th/agridata003.html. (2 พฤษภาคม 2556).
สุนทร อินทะนัด. 2543. การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนวิชาเกษตรเพื่อเสริมสร้างทัศนคติของนักเรียนในโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ. การค้นคว้าแบบอิสระ ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 114 หน้า.
สุวดี นำพาเจริญ และชลทิชา จำรัสพร. 2557. การวิเคราะห์สมการถดถอย. (ระบบออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.tpa.or.th/nitctool/wri ter.php?bookID=3086&pageid=1&read=true&count=true (20 พฤศจิกายน 2557).
Cronbach, L. J. 1951. Coefficient alpha and the internal structure of tests. Psychometrika, 16(3): 297-334.