สถานภาพการผลิตและการตลาดสุราแช่พื้นบ้านในภาคเหนือตอนบน

Main Article Content

ศรัณย์ อารยะรังสฤษฎ์
กมล งามสมสุข
จันท์จิรา ประมวญพิสุทธิ์

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มุ่งชี้ให้ทราบถึงสถานภาพการผลิตและการตลาดสุราแช่พื้นบ้านของผู้ประกอบการ โดยทำการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนจำนวน 50 รายเพื่อประกอบการวิเคราะห์สถานภาพทางธุรกิจ การผลิต เทคโนโลยีการผลิต และการตลาด ผลการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและดำเนินธุรกิจในรูปห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยเป็นทั้งผู้ที่เคยมีและไม่เคยมีประสบการณ์ในการผลิตสุราแช่พื้นบ้านมาก่อน ผู้ประกอบการเหล่านี้ทำการผลิตสุราแช่พื้นบ้านหลากหลายชนิดแต่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การผลิตไวน์ผลไม้และไวน์สมุนไพร มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตไม่สูงนัก เช่น ถังหมักส่วนใหญ่เป็นถังพลาสติก บางรายยังใช้โอ่งหมักสุราแช่พื้นบ้าน  การผลิตยังขาดสุขอนามัยที่ดี และส่วนใหญ่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดใช้แล้ว มีเพียงผู้ประกอบการส่วนน้อยที่มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ดี ส่วนการตลาดสุราแช่พื้นบ้านของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นการตลาดเชิงรับ โดยเน้นที่ตลาดในท้องถิ่นและการรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาซื้อในแหล่งผลิตมากกว่าการทำตลาดเชิงรุก สุราแช่พื้นบ้านมีต้นทุนการผลิตที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ไวน์ผลไม้มีต้นทุนโดยเฉลี่ยเท่ากับ 46.05 บาท/ขวด ไวน์สมุนไพรมีต้นทุนมากที่สุดเท่ากับ 53.16 บาท/ขวด และสาโทมีต้นทุนเพียงขวดละ 16.77 บาท ซึ่งประมาณร้อยละ 97 ของต้นทุนทั้งหมดเป็นต้นทุนผันแปร  ซึ่งเมื่อประเมินถึงผลตอบแทนสุทธิ พบว่า ผู้ประกอบการมีอัตรากำไรจากการผลิตสูงกว่าร้อยละ 65 ของราคาขาย


การพัฒนาทางด้านการผลิตและการตลาดสุราแช่พื้นบ้านของผู้ประกอบการยังมีไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องมาจากผู้ประกอบการประสบปัญหาการขาดความรู้และข้อมูลในด้านการผลิตและการใช้เทคโนโลยีการผลิตเพื่อปรับปรุง ผลผลิตและประสิทธิภาพการผลิต และด้านการตลาด ตลอดจนแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการผลิตและการตลาดที่ครบวงจรและการสนับสนุนด้านเงินทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาการผลิตและการตลาดสุรา แช่พื้นบ้าน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรต้องมีการปรับปรุงด้านคุณภาพและความสะอาดปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นจุดขายภายใต้ภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันสูง


 

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. 2546. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://www.tisi.go.th/ index_t.html (กันยายน 2546).
สำนักงานสรรพสามิต. 2545. จำนวนผู้ประกอบการสุรา แช่พื้นบ้านที่จดทะเบียนปี พ.ศ. 2545. เอกสาร รายงานสรุปผลการปฏิบัติงานปี 2545. 24 พฤษภาคม 2545. โรงแรมโนโวเทล.
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดลำพูน. 2546. สถานการณ์ปัญหาสุราแช่ชนิดผลไม้และสุราพื้นเมือง. เอกสารรายงานการประชุมเชิงปฏิบัติการ.
สุพัฒน์ กุมพิทักษ์ และ กำพล กาหลง. 2545. อุ สาโท น้ำตาลเมา เหล้าต้ม เหล้าพื้นบ้านไทย. เกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 8: 12-17