การจัดการหอยเชอรี่ในนาข้าวของเกษตรกรในบริเวณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

Main Article Content

สยาม อรุณศรีมรกต
วรพร สังเนตร
ธรรมศักดิ์ พัฒนพ่วง

บทคัดย่อ

การศึกษาการจัดการหอยเชอรี่ในนาข้าวบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกร การทำนา การระบาดและการกำจัดหอยเชอรี่ และการนำหอยเชอรี่ไปใช้ประโยชน์ของเกษตรกรผู้ทำนาข้าวในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยทำการศึกษาจากเกษตรกรผู้ทำนาข้าวในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 144 คน ประมวลผลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ SPSS for windows นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตารางและแปรผลโดยการบรรยาย ได้ผลการวิจัยดังนี้


เกษตรกรจะทำนาปีละ 3 ครั้ง คือ นาปี 1 ครั้ง และนาปรัง 2 ครั้ง โดยมีการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงและ วัชพืช และมีการใช้ปุ๋ยเคมีในการทำนา ศัตรูพืชที่ทำความเสียหายแก่ข้าว คือ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หอยเชอรี่ หนูนา และปูนา นอกจากนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่พบหอยโข่งในพื้นที่นาของตนเองมาเป็นเวลา 3 - 5 ปี


หอยเชอรี่ที่ระบาดในนาข้าวมีขนาดเฉลี่ย 5.72 เซนติเมตร โดยเมื่อระบาดหนักจะมีปริมาณเฉลี่ย 18.70 ตัวต่อตารางเมตร หอยเชอรี่ระบาดในทุกฤดูมาเป็นระยะเวลา 3-5 ปี เกษตรกรส่วนใหญ่กำจัดโดยใช้สารเคมีเอนโดซัลแฟน  ซึ่งมีผลให้สัตว์น้ำในนาข้าวลดลงแต่ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น และมีการใช้แรงงานในการกำจัดหอยเชอรี่น้อยลง เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหอยเชอรี่ และไม่ได้รับการส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากหอยเชอรี่


สำหรับการเปรียบเทียบปริมาณหอยเชอรี่ที่ระบาดในนาข้าวระหว่างการทำนาในรอบปี การพบหอยโข่ง และวิธีการป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่ พบว่า


  1. ปริมาณหอยเชอรี่ที่ระบาดในนาข้าวไม่มีอิทธิพลใด ๆ ต่อการตัดสินใจทำนาในรอบปีของเกษตรกร

  2. ปริมาณหอยเชอรี่ที่ระบาดในนาข้าวมีอิทธิพลต่อจำนวนหอยโข่งในนาข้าวอย่างเห็นได้ชัด

  3. ปริมาณหอยเชอรี่ที่ระบาดในนาข้าวมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้วิธีการกำจัดหอยเชอรี่

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ชมพูนุช จรรยาเพศ และคณะ. 2535. เปรียบเทียบประสิทธิภาพเมทัลดีไฮด์กับนิโคลซาไมด์ในการจับหอยเชอรี่. กรุงเทพฯ : รายงานประจำปี 2535 กลุ่มงานสัตววิทยาการเกษตร กองกีฎและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร.
ชมพูนุช จรรยาเพศ และทักษิณ อาชวาคม. 2540. การป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่โดยวิธีผสมผสาน. กรุงเทพฯ : กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
นิตยา เลาหจินดา และคณะ. 2542. แนวทางการควบคุมและกำจัดหอยเชอรี่เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า. ขอนแก่น : เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องหอยเชอรี่ 24 ก.ย. 2542 ณ. โรงแรมโซฟิเทล ราชาออคิด.
ปัทมา แซ่กิม. 2543. “ผลของสารสกัดจากสาบเสือต่อการเปลี่ยนแปลงระดับเอนไซม์ทำลายพิษในหอยเชอรี่”. กรุงเทพฯ : วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สยาม อรุณศรีมรกต วรพร สังเนตร และธรรมศักดิ์ พัฒนพ่วง. 2545. ผลกระทบทางด้านสังคมจากการระบาดของหอยเชอรี่ในนาข้าวบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์. รายงานการวิจัย คณะสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,นครปฐม. 80 หน้า
สยาม อรุณศรีมรกต. 2536. ชีววิทยาและประสิทธิภาพของมวลแมลงดาสวนในการกำจัดหอยโข่งอเมริกาใต้. กรุงเทพฯ : การประชุมวิชาการเรื่อง ความขัดแย้งและทางออกของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 19-21 พฤษภาคม 2536 ณ. สถาบันพัฒนาการ สาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา.
สำรวล ดอกไม้หอม และคณะ. 2540. หอยเชอรี่และการป้องกันกำจัด. กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
Aroonsrimorakot, Sayam. 1993. “Biological and Efficiency of Small Water Bug, Sphaeroderma Molestum (Duf.) in the control of Golden Apple Snail, Pomacea
canaliculata” Master of Thesis Science in Technology of Environmental Management Thesis, Faculty of Graduate Study, Mahidol University, Thailand.