ความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

วราภา คุณาพร

บทคัดย่อ

กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกกองทุนผู้กู้สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ตามกำหนด ดังนั้นการศึกษาความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการชำระคืน ปัจจัยที่มีผลต่อการชำระคืน รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการชำระคืนเงินกู้กองทุนหมู่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีจำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษานี้ทั้งหมด 210 ตัวอย่าง


ผลการศึกษา พบว่า ตัวอย่างสมาชิกร้อยละ 56.7 ได้ทำการชำระคืนเงินกู้แก่กองทุนหมู่บ้านด้วยการชำระคืนครั้งเดียวพร้อมดอกเบี้ย และมีตัวอย่างสมาชิกฯ เพียงร้อยละ 6.7 ของจำนวนตัวอย่างสมาชิกฯ ทั้งหมดเท่านั้นที่ไม่สามารถคืนเงินกู้ได้ตามสัญญา ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการชำระคืนเงินกู้กองทุนหมู่บ้าน ได้แก่ การประกอบอาชีพรับจ้าง การศึกษาในระดับประถมศึกษา รายได้ของทั้งครัวเรือน และ อัตราดอกเบี้ยของกองทุนหมู่บ้าน สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการชำระคืนเงินกู้ คือ ระยะเวลาในการกู้เงินสั้นเกินไป จำนวนวงเงินกู้ไม่เพียงพอ และในบางกองทุนมีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง และขั้นตอนการขอกู้มีความซับซ้อน


ข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายกองทุนหมู่บ้านควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับปัจจัยทั้ง 4 ที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมนั้นควรอยู่ที่ระดับร้อยละ 6 ต่อปี นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงทางด้านกฎระเบียบของกองทุนใน 2 ประเด็น คือ 1) เพิ่มระยะเวลาของการกู้ยืมเงินให้มากกว่า 1 ปี และ 2) ขยายวงเงินกู้เพิ่มขึ้น สุดท้ายทางภาครัฐบาลควรมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้ในการพัฒนาอาชีพแก่สมาชิกฯ เพื่อให้สมาชิกสามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้แก่ตนเองจากเงินทุนที่ได้จากกองทุนหมู่บ้านได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กมลลักษณ์ ดิษยนันท์. 2545. “ศักยภาพและปัญหาในการจัดการกองทุนหมู่บ้านจังหวัดเชียงใหม่”. การค้นคว้าแบบอิสระ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต. สาขาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ. สำนักงาน. 2544. คู่มือสำหรับประชาชนเพื่อเตรียมการจัดตั้งและดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง. สำนักงานคณะกรรมการ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.
คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ. สำนักงาน. 2544. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2544 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 ระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งชาติ ว่าด้วย การจัดตั้งและบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2544. สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สำนักเลขาธิการนายรัฐมนตรี.
จันทร์ศรี สมวิลาศ. 2536. “ปัจจัยที่มีผลต่อการชำระคืน สินเชื่อเพื่อการเกษตรของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่”. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร มหาบัณฑิต. สาขาส่งเสริมและเผยแพร่ การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
นิกร มาตุพรหม. 2542. “ปัจจัยที่มีผลต่อการชำระคืนสินเชื่อการเกษตรของเกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่”. วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ปริชญา ชีวะเกตุ. 2545. “แนวปฏิบัติทางบัญชีสำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง: กรณีศึกษากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่”. วิทยานิพนธ์บัญชีมหาบัณฑิต. คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พิชิต ธานี. 2544. “รายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านในการดำเนินงานตามนโยบายกองทุนหมู่บ้าน จังหวัดเชียงใหม่”. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ภัทรพล คำพรม. 2545. “การศึกษาความพึงพอใจของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเกี่ยวกับการดำเนินงานการกู้ยืมเงินกองทุนหมู่บ้าน: กรณีศึกษา บ้านหนองเหียง ตำบลหนองหนาม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน”. การวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุมาลย์ กุศลศารทูล. 2537. กองทุนหมู่บ้าน. ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ. ลำปาง.