ศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพและสถานภาพด้านสิ่งแวดล้อมในฟาร์มสุกรและโคนมทั่วประเทศไทย

Main Article Content

นิรันดร โพธิกานนท์
วราภา คุณาพร
โชค มิเกล็ด

บทคัดย่อ

การศึกษาเพื่อประมวลหาศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกรและโคนมทั่วประเทศ  มีวัตถุประสงค์ที่จะวิเคราะห์ฟาร์มสุกรและโคนมทั่วประเทศ ว่ามีความสามารถในการผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนพลังงานอื่น ได้แก่ ก๊าซ liquid petroleum gas (LPG) และพลังงานไฟฟ้าได้มากน้อยเท่าใดและมีสถานภาพทางมลภาวะเป็นอย่างไร โดยคำนึงถึงขนาดฟาร์มขั้นต่ำ อายุของฟาร์ม และข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของสัตว์ ความต้องการมีบ่อหรือระบบก๊าซชีวภาพของฟาร์ม และเงื่อนไขจากการประกาศใช้มาตรฐานน้ำทิ้งจากฟาร์ม การศึกษานี้ดำเนินภายใต้โครงการแผนที่ไบโอก๊าซฟาร์มสุกรและโคนมทั่วประเทศ ข้อมูลฟาร์มด้านต่าง ๆ นั้นได้จากการสำรวจสัมภาษณ์เจ้าของหรือผู้จัดการฟาร์มโดยใช้แบบสอบถาม และโดยอาศัยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ในเครือข่ายของกรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนภาคเอกชน ดำเนินการสำรวจสัมภาษณ์ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ~กุมภาพันธ์ 2543 แล้วจัดทำฐานข้อมูลเพื่อประมวลผลให้ผู้เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพ และหน่วยงานด้านปศุสัตว์ รวมทั้งเกษตรกรและผู้สนใจเข้าดูข้อมูลเกี่ยวกับฟาร์มและปริมาณก๊าซชีวภาพที่จะผลิตได้ทั่วประเทศ  จากการประมวลผลและการวิเคราะห์ข้อมูลฟาร์มที่สำรวจได้ 19,239 ฟาร์ม พบว่าเป็นฟาร์มสุกรและโคนม 5,978 และ 13,261 ฟาร์ม  โดยภาคตะวันตกเป็นภาคที่มีฟาร์มสุกรและโคนม ตลอดจนจำนวนสัตว์มากที่สุด ฟาร์มสุกรสามารถวิเคราะห์จำแนกเป็นฟาร์มที่เลี้ยงสุกรขุนอย่างเดียว 2,073 ฟาร์ม (34.68 %) เลี้ยงแม่พันธ์และสุกรขุน 1,975 ฟาร์ม (33.03 9 %) และเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์โดยไม่ขุน 1,930 ฟาร์ม ทั้งฟาร์มสุกรและฟาร์มโคนมร้อยละ 38.6 อยู่ห่างจากชุมชนน้อยกว่า 1 กม. ร้อยละ 33.54 อยู่ห่างชุมชน 1~ 3 กม. ร้อยละ 63.10 ของฟาร์มโคนม และร้อยละ 49.15 ของฟาร์มสุกรตั้งอยู่ติดกับลำรางสาธารณะและใช้น้ำในการฉีดล้างทำความสะอาดคอกสัตว์ทั้งโดยไม่โกยมูลออกหรือโกยมูลออกก่อนเป็นส่วนใหญ่ ในด้านการจัดการมูลสัตว์ออกจากฟาร์มนั้น ฟาร์มสุกรและฟาร์มโคนมร้อยละ 75.66 และ 72.63 ใช้วิธีกองพักมูลรอการจำหน่าย และใช้วิธีการทำความสะอาดคอกสุกร (86.23 %) และคอกโคนม (ร้อยละ 92.35) เป็นมาตรการลดกลิ่นในฟาร์ม นอกจากนั้นฟาร์มสุกร (42.96%) และฟาร์มโคนม (78.61 %) ควบคุมปริมาณน้ำเสียโดยการใช้น้ำล้างคอกให้น้อยที่สุด ในด้านมลภาวะนั้น ฟาร์มสุกร (67.94 %) และฟาร์มโคนม (58.24 %) ระบุว่ามีกลิ่น แมลงวันและน้ำเสียเป็นปัญหาในฟาร์ม แต่ส่วนใหญ่ของฟาร์มร้อยละ 55~59 อ้างว่าไม่มีปัญหาต่อชุมชนใกล้เคียง แต่ฟาร์มสุกรร้อยละ 29.98 ระบุว่าถูกอบต. ตักเตือนและร้อยละ 5.19 ถูกร้องเรียนจากเพื่อนบ้าน


            ฟาร์มสุกรและโคนมมีบ่อก๊าซชีวภาพเพียงร้อยละ 3.21 และ 2.08 ตามลำดับ โดยฟาร์มเลี้ยงสุกรมีสัดส่วนการสร้างบ่อก๊าซชีวภาพเองถึงร้อยละ 79.69 ในขณะที่ฟาร์มโคนมสร้างกันเองเพียงร้อยละ 17.82 ทั้งฟาร์มสุกรและโคนมระบุว่าพึงพอใจกับบ่อหรือระบบก๊าซชีวภาพมากถึงร้อยละ 51.82 และ 49.46 และต้องการมีระบบก๊าซชีวภาพรวมกันทั้งที่พร้อมสร้างและไม่พร้อมสร้างจำนวน 1,984 และ 4,590 ฟาร์ม ตามลำดับ โดยกลุ่มฟาร์มสุกรนึกถึงเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มฟาร์มโคนม  ฟาร์มสุกรที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก~กลาง และใหญ่มีจำนวนรวมกัน 1,247 ฟาร์มมีสุกรรวมกัน 127,946 หน่วยปศุสัตว์ (นปส.) และต้องการบ่อหรือระบบก๊าซชีวภาพรวมกัน 255,892 ลบม. จะผลิตก๊าซชีวภาพได้ปีละ 32.6 ล้านลบม. คิดเป็นมูลค่าก๊าซ LPG ปีละ 195.4 ล้านบาท


            ฟาร์มโคนมที่มีศักยภาพมีจำนวน 2,120 ฟาร์มมีจำนวนโครวมกัน 22,720 นปส. ต้องการบ่อก๊าซชีวภาพรวมกัน 45,440 ลบม. ส่วนฟาร์มโคนมทั่วประเทศนั้นมีจำนวนโคนมที่คิดเป็น นปส. ผลิตก๊าซชีวภาพได้ราวร้อยละ 70 ของ นปส. โคนมในทุกขนาดฟาร์ม คิดเป็นโคนมที่ผลิตก๊าซได้ 125,239 นปส. และต้องการบ่อก๊าซชีวภาพรวมกัน 250,478 ลบม. จะผลิตก๊าซชีวภาพได้ปีละ 15.9 ล้าน ลบม. คิดเป็นมูลค่าก๊าซ LPG ปีละ 20.6 ล้านบาท


            กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยบริการก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อขยายเป้าหมายในการส่งเสริมถึงปี พ.ศ. 2545/46 จะสร้างบ่อหรือระบบก๊าซชีวภาพได้น้อยกว่าที่ต้องการในฟาร์มสุกรและโคนมที่มีศักยภาพรวม 3.5 เท่า แต่ถ้าเทียบกับปริมาตรบ่อหรือระบบก๊าซชีวภาพรวมของฟาร์มสุกรและโคนมทั่วประเทศแล้ว ปริมาตรรวมที่จะส่งเสริมได้เต็มที่นั้นจะยังต่ำกว่าของฟาร์มทั่วประเทศถึง 15 เท่า ช่องว่างของการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพปรากฏให้เห็นในฟาร์มสุกรขนาดกลางจำนวนประมาณ 1,600 แห่ง ที่ต้องการบ่อก๊าซชีวภาพขนาดใหญ่กว่า 100 ลบม. จนถึงขนาดต่ำกว่า 1,000 ลบม.

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมปศุสัตว์. 2541. ประมวลสถิติปศุสัตว์, ฝ่ายประมวลผลและสถิติ กองแผนงาน กรมปศุสัตว์.
กรมส่งเสริมการเกษตร. (ไม่ระบุปี) คู่มือการคำนวณการก่อสร้างบ่อก๊าซชีวภาพแบบโดมคงที่. โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์เพื่อเป็นพลังงานทดแทนและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม (เกษตรกรราย ย่อย). กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน.
ประวิทย์ สีห์โสภณ. 2541 ประกาศจังหวัดเชียงใหม่เรื่อง กำหนดค่ามาตรฐานน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกร และค่ามาตรฐานการควบคุมกลิ่นจากฟาร์มสุกร ณ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2541
ยุวรี อินนา. 2543 การจัดการน้ำเสียจากฟาร์มสุกร. จัดโดยกลุ่มงานควบคุมมลภาวะฟาร์มปศุสัตว์ วันที่ 31 กรกฎาคม 2543 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพมหานคร.