ผลของตำแหน่งและพันธุ์ของต้นตอกลางต่อการต่อกิ่งมะม่วง

Main Article Content

วัลลภ จันทร์งาม
ธวัชชัย รัตน์ชเลศ

บทคัดย่อ

มะม่วงเป็นไม้ผลยืนต้นที่นิยมปลูกบนที่ดอนอาศัยน้ำฝน โดยมีมะม่วงแก้วเป็นพันธุ์ในท้องถิ่น ที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายที่สุด งานทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะวัดความสามารถในการเชื่อมประสานและการอยู่รอดของยอดพันธุ์แก้วเมื่อต่อกิ่งบนต้นตอกลางมะม่วงการค้า 3 พันธุ์ ได้แก่ เขียวเสวยหนังกลางวันและน้ำดอกไม้ รวมทั้งประเมินผลของพันธุ์และตำแหน่งการต่อกิ่งที่มีต่อการอยู่รอดและการเจริญเติบโตของยอดพันธุ์แก้ว ได้ศึกษาในเรือนเพาะชำของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และในแปลงของเกษตรกร บนพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรรมโครงการป่าจอมทอง กิ่งอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่


            การตัดเนื้อเยื่อตามแนวขวางบริเวณรอยต่อแสดงให้เห็นว่า แคลลัสซึ่งเจริญขึ้นมาจากต้นตอกลางเขียวเสวยและหนังกลางวัน เกิดการเชื่อมประสานกับยอดพันธุ์แก้วได้ดีกว่าต้นตอกลางน้ำดอกไม้ ที่ 60 วันหลังการต่อกิ่ง ในการต่อยอดพันธุ์แก้วที่ตำแหน่งกิ่งหลัก กิ่งรอง และกิ่งแขนง บนต้นตอกลางเขียวเสวยและหนังกลางวันที่มีอายุ 9-10 ปี ในแปลงของเกษตรกร การอยู่รอดและการเจริญเติบโตของยอดพันธุ์แก้วไม่มีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามการต่อกิ่งในตำแหน่งกิ่งรองบนต้นตอกลางจะเหมาะสมในทางปฏิบัติ การศึกษานี้สรุปได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนพันธุ์ต้นมะม่วงที่ไม่ต้องการโดยใช้ยอดพันธุ์แก้วต่อกิ่งบนตำแหน่งกิ่งรอง

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ธวัชชัย รัตน์ชเลศ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และ รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์. 2541. อุตสาหกรรมการแปรรูปมะม่วงในภาคเหนือตอนบน. Agricultural Systems Working Paper No.48. 11 น.
ธวัชชัย รัตน์ชเลศ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และ รุ่งทิพย์ อุทุมพันธ์. 2542. แนวทางการพัฒนาอาชีพจากมะม่วง. Agricultural Systems Working Paper No.105.17 น.
วิทยา สุริยาภณานนท์ และ เสาวณี สุริยาภณานนท์. 2527. การพัฒนาของรอยประสานของมะม่วง. ว. วิชาการเกษตร. 2:82-87.
วัลลภ จันทร์งาม. 2543. ผลของพันธุ์ ตำแหน่ง และอายุของต้นตอกลางต่อการต่อกิ่งของยอดพันธุ์มะม่วงแก้ว. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่. 144 น.
ศุภชัย วิจารณญาณ. 2528. การขยายพันธุ์มะม่วงอย่างมืออาชีพ. สำนักพิมพ์วารสารเคหการเกษตร, กรุงเทพฯ. 82 น.
De Pedro, C.B. 1995. Topworking ‘Kachamitha’ to ‘Carabao’ Mango. Philipp. Mango Forum 1(2): 80-84.
Hartmann, H.T., D.E. Kester and F.T. Davies. 1990. Plant propagation: Principles and practices. Fifth edition. Prentice Hall, New Jersey. 647 p.
Johansen, D.A. 1940. Plant Microtechnique. Mc Graw-Hill Book Co., Inc.,London. 523 p.
Soule, J. 1971. Anatomy of the bud union in mango (Mangifera indica L.) J. Amer. Soc. Hort. Sci. 96 (3):380-383.