สถานภาพและปัญหาในการผลิตกุหลาบของภาคเหนือ

Main Article Content

พัฒนา เจียรวิริยะพันธ์
ภาณีรัตน์ โตเจริญ
อดิศร กระแสชัย
พิมพ์ใจ อาภาวัชรุตม์

บทคัดย่อ

พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกกุหลาบตัดดอกที่สำคัญของประเทศ ในปี 2541 กุหลาบ 2,863.20 ไร่ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก ลำพูน พิจิตร อุตรดิตถ์ นครสวรรค์สุโขทัย พะเยา และแม่ฮ่องสอน รวม 43 อำเภอ 83 ตำบล 142 หมู่บ้าน พบว่าเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบส่วนใหญ่เป็นเพศชายมีอายุระหว่าง 41-50 ปี และมีการใช้แรงงานชายหรือหญิงในครัวเรือน 1 คน โดยมีพื้นที่ถือครองเป็นของตนเองและมีพื้นที่ต่อรายน้อยกว่า 20 ไร่ มีประสบการณ์ในการปลูกกุหลาบเฉลี่ยน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ปี โดยทั่วไปการผลิตกุหลาบมีลักษณะการปลูกนอกโรงเรือนมีจำนวนกุหลาบเฉลี่ย 3,000-4,000 ตันต่อไร่ ใช้แหล่งน้ำจากแม่น้ำและลำคลอง โดยมีระบบการให้น้ำในแปลงแบบปล่อยน้ำท่วมแปลงมีระยะเวลาการให้น้ำเฉลี่ยประมาณ 10 วันต่อครั้ง ให้ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง และมีกิ่งพันธุ์ ที่ใช้แบบติดตาที่ซื้อจากสวนกุหลาบจังหวัดเชียงใหม่และนครปฐม วิธีการปลูกเป็นแถวคู่ มีขนาดความกว้างของแปลงเฉลี่ย 1-1.50 ม. และมีความยาวตามขนาดของพื้นที่ มีวิธีการทำแปลงแบบยกแปลง ระยะห่างระหว่างต้น 41-55x55 ซม. การวางแปลงวาง ตามลักษณะพื้นที่ในทิศทางแนวเหนือ-ใต้ ในส่วนของการให้ปุ๋ยมีการใช้ปุ๋ยคอกก่อนการปลูก และหลังการปลูกให้ปุ๋ยเคมีทางราก และทางใบ 2 ครั้งต่อเดือน มีการตัดแต่งกิ่งสม่ำเสมอ และใช้สารเร่งการเจริญเติบโต เช่น Biotika, GA และ Polyair พันธุ์กุหลาบที่นิยมปลูกเช่น  Dallus, Kardinal, Saphir, Diplomat และ Tineke สีที่นิยมจะเป็นสีแดง ชมพู และสีขาว ส่วนสีเหลืองนั้นนิยมปลูกน้อยที่สุด โดยทั่วไปเกษตรกรทำการตัดดอกกุหลาบทุกวันในช่วงเช้านำไปแช่น้ำธรรมดา การห่อดอกกุหลาบจะใช้หนังสือพิมพ์โดยบรรจุ 50 ดอกต่อห่อ ไม่มีการใช้ห้องเย็นในการเก็บรักษา ทำการขนส่งดอกกุหลาบโดยรถจักรยานยนต์  รถโดยสาร ให้แก่พ่อค้าส่ง      การกำหนดราคากำหนดตามความยาวช่อดอกซึ่งในแต่ละพื้นที่ปลูกมีความแตกต่างกันมากพอสมควร  เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ ความยาวช่อ 30-35 ซม. ราคาอยู่ในช่วง 0.60-4.00 บาท/ดอก ในขณะที่จังหวัดตากราคาอยู่ในช่วง 0.40-0.50 บาท/ดอก ส่วนดอกที่มีความยาวช่อดอกมากกว่า 45-55 ซม. ที่จังหวัดเชียงใหม่ราคา 1.50-10.00 บาท/ดอก ขณะที่จังหวัดตากราคา 0.60-2.20 บาท/ดอก โดยมีการจ่ายเงินค่าดอกกุหลาบให้แก่เกษตรกรเฉลี่ย 2-10 วันต่อครั้ง


            พบว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการผลิตกุหลาบคือ ปัญหาโรคและแมลง รองลงมาเป็นปัญหาอื่น ๆ เช่นขาดสายพันธุ์ใหม่ การตลาดขนาดดอกเล็กในฤดูร้อน การขาดน้ำ และราคาของปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่มีราคาแพง ปัญหาโรคและแมลงเป็นปัญหาหลัก โรคที่พบมากที่สุดในการปลูกกุหลาบ คือ โรคราน้ำค้าง ราแป้งและใบจุดดำ ในพื้นที่เกือบทุกจังหวัด รองลงมา คือโรคใบร่วง พบในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน โรค Dye back พบที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ และอุตรดิตถ์ แมลงศัตรูพืชที่นับว่าเป็นปัญหามากที่สุด คือไรแดง รองลงมาคือ เพลี้ยไฟ และหนอนเจาะดอก ศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ ระบาดในทุกสายพันธุ์และทุกจังหวัดที่ปลูก การป้องกันกำจัดโรคและแมลง เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีฉีดพ่นสลับกัน 1-9 ชนิดตามความเหมาะสม เช่น Apron, Benlate, Dithane และ Lannate เป็นต้น มีเกษตรกรหนึ่งรายใช้ไฟล่อแมลงและใช้ถังรองน้ำผสมสบู่หรือยาฆ่าแมลง และสร้างโรงเรือนเพื่อลดปริมาณแมลงในการเข้าทำลาย ในด้านของการจำหน่ายมีปัญหาด้านราคา และปริมาณความสม่ำเสมอของผลผลิตในการขาย เป็นต้น

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

นิสารัตน์ เหลี่ยวเจริญวัฒน์. 2541. การศึกษาระบบการผลิตกุหลาบเชิงธุรกิจในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่. ปัญหาพิเศษ. ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พัฒนา เจียรวิริยะพันธ์. 2538. ระบบธุรกิจของไม้ตัดดอกในจังหวัดเชียงใหม่. ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่ 55 หน้า.
ณัชชา ลี้วิศิษฎ์พัฒนา. 2541. พฤติกรรมผู้บริโภคของตลาดกุหลาบ ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. ปัญหาพิเศษ. ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุขชัย ตระกูลศุภชัย. 2537. การผลิตกุหลาบเพื่อการค้าของเกษตรกรเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท, สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
โอฬาร พิทักษ์. 2534. พันธุ์กุหลาบในเมืองไทย. โรงพิมพ์แสงทองการพิมพ์. กรุงเทพฯ. 28 หน้า.
โอฬาร พิทักษ์. 2540. สภาพการผลิตกุหลาบตัดดอกเป็นการค้าในประเทศไทย. ใน รายงานการประชุมวิชาการ ไม้ดอกไม้ประดับแห่งชาติครั้งที่ 3 ไม้ดอกไม้ประดับสู่การผลิตสากล, หน้า 118-131. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. บริษัท เฟื่องฟ้าพริ้นติ้งจำกัด, กรุงเทพฯ.