ลักษณะการเข้าทำลายวงจรชีวิตและการป้องกันกำจัดหนอนกินเปลือกลำต้น <I>Indurbela</I> sp. 1 บนต้นลำไย
Main Article Content
บทคัดย่อ
จากการส่งตัวอย่างผีเสื้อตัวเต็มวัยเพศผู้พร้อมสไลด์อวัยวะสืบพันธุ์ไปทำการวินิจฉัยชื่อวิทยาศาสตร์ที่ The Natural History Museumกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่า lndarbela sp.1 (Lepidoptera: Metarbelidae) ซึ่งยังไม่สามารถจำแนกชนิด (species) ได้ในขณะนี้
การเปรียบเทียบปริมาณการเข้าทำลายของหนอนกินเปลือกลำต้นบนต้นลำไยที่แสดงอาการหงอย และต้นลำไยปกติที่สวนลำไยตำบลน้ำบ่อหลวง และตำบลแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ และสวนตำบลป่าเห็วจังหวัดลำพูน พบทุกสวนที่สำรวจมีปริมาณการเข้าทำลายของหนอนกินเปลือกลำต้นบนต้นลำไยที่แสดงอาการหงอยสูงกว่าบนต้นลำไยปกติ การศึกษาตำแหน่งของลำต้นที่พบหนอนกินเปลือกลำต้นเข้าทำลายมากที่สุดพบว่าหนอนชอบ เข้าทำลายที่บริเวณกลางลำต้นมากที่สุดรองลงมาคือที่บริเวณปลายยอด ส่วนที่บริเวณโคนต้นจะพบน้อยที่สุด ยกเว้น ที่สวนป่าเห็ว พบว่าปริมาณหนอนกินเปลือกลำต้นที่เข้าทำลายบริเวณกลางลำต้นและที่ปลายยอดมีปริมาณใกล้เคียงกัน
การศึกษาวงจรชีวิตหนอนกินเปลือกลำต้น ในสภาพห้องปฏิบัติการ ที่อุณหภูมิ 25.12±1.55 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 58.5±6.67 เปอร์เซ็นต์ พบว่าระยะไข่ใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ไข่ที่ได้จากการผ่าออกจากท้องแม่ผีเสื้อ มีขนาดกว้าง 0.41±0.06 มิลลิเมตร และยาว 0.68±0.11 มิลลิเมตร แม่ผีเสื้อ 1 ตัววางไข่ได้ประมาณ 489.60±235.00 ฟอง การศึกษาระยะการเจริญเติบโตของหนอนในสภาพธรรมชาติ โดยทำการเก็บตัวอย่างหนอนจากสภาพแปลงปลูกมาทำการวัดขนาดความกว้างหัวกะโหลก สามารถแบ่งระยะการเจริญเติบโตของหนอนได้ 8 วัย และมีอัตราการเจริญเติบโตตลอดระยะหนอนเฉลี่ย 1.63 วัน ระยะดักแด้ 21.00 ±2.27 วัน ดักแด้มีขนาดยาว 14.30±2.79 มิลลิเมตร และกว้าง 3.48±0.63 มิลลิเมตร ผีเสื้อตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดกลาง ขนาดความกว้างเมื่อกางปีกออก พบว่าผีเสื้อเพศผู้มีขนาด 20.09±1.60 มิลลิเมตร และเพศเมียมีขนาด 25.57±4.06 มิลลิเมตร ระยะตัวเต็มวัยเพศผู้ 4.81±1.72 วัน และ เพศเมีย 4.88±1.36 วัน จากการเปรียบเทียบขนาดใบลำไยของต้นลำไยที่แสดงอาการหงอยจากกิ่งที่พบมีหนอนและกิ่งที่ไม่มีหนอนเข้าทำลายพบว่าขนาดใบลำไยที่ได้จากกิ่งที่มีหนอนกินเปลือกลำต้นเข้าทำลายมีขนาดเล็กกว่าใบลำไยที่ได้ จากกิ่งที่ไม่มีหนอนอย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารพบว่าทั้งในสภาพแปลงปลูกและห้องปฏิบัติการ หนอนหลังจากที่ขุดอุโมงค์หนอนออก หนอนจะทำการสร้างอุโมงค์ใหม่และทำการปิดปากรู โดยนำใยเหนียวปนกับมูลของหนอนและเศษเปลือกไม้และพบว่าหนอนสร้างอุโมงค์ในเวลากลางคืนมากกว่าเวลากลางวันแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษาการควบคุมหนอนกินเปลือกลำต้นในสภาพแปลงปลูก โดยการใช้ไส้เดือนฝอย Steinernema carpocapsae อัตรา 2,000 ตัวต่อมิลลิลิตร ยาเชื้อจุลินทรีย์ Bacillus thuringiensis (Florbac FC) อัตรา 45 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และสารฆ่าแมลง fenitrothion (Sumithion 50% EC) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรพบว่าการใช้ไส้เดือนฝอยให้ผลในการป้องกันกำจัดหนอนได้ดีที่สุด แตกต่างกับยาเชื้อจุลินทรีย์และสารฆ่าแมลง อย่างมีนัยสำคัญ
Article Details
References
ฉวีวรรณ หุตะเจริญ. 2533. แมลงศัตรูป่าไม้ของไทย. แสงเทียนการพิมพ์, กรุงเทพฯ. 171 หน้า
ชาตรี สิทธิกุล จริยา วิสิทธิ์พานิช และวิชชา สอาดสุด. 2539. การแพร่กระจายและความเสียหายของลำไยที่เป็นโรคหงอยในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน. วารสารเกษตร 12: 104-114.
สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ. 2526. แมลงศัตรูพืชทางการเกษตรของประเทศไทย. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, กรุงเทพฯ. 424 หน้า.
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2538. ข่าวเศรษฐกิจการเกษตร. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ 41: 14-19.
Beeson, C. F. G. 1941. The Ecology and Control of the Forest Insects in India and Neighboring Countries. Goverment Printing Office, Madras. 767 pp.
Holloway, J. D. 1986. The Moth of Borneo’ s Key to Families : Family Cossidae, Metarbelidae, Ratardidae, Dudgeoneridae, Epipyropidae and Limacodidae. Malaysia. Natural Journal 40: 1-116.
Subhadrabandhu, S. 1990. Lychee and Longan Cultivation in Thailand. Department of Horticulture, Kasetsart University, Bangkok. 41 pp.
Vite, G. M. 1961. The influence of Water Supply on Oleoration Exudation Pressure and Resistance Bark Beetle Attack in Pinus pondorasa. Contrib. Boyce Thompson Inst 21 : 37-66.