ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสำหรับการเลี้ยงไก่ลูกผสมพื้นเมืองโรดไอแลนด์แดงด้วยอาหารและระยะเวลาในการเลี้ยงต่างๆ กัน

Main Article Content

อำนวย เลี้ยวธารากุล
อรอนงค์ พิมพ์คำไหล
ศิริพันธ์ โมราถบ

บทคัดย่อ

ไก่ลูกผสมพื้นเมืองโรดไอแลนด์แดง จำนวน 640 ตัว ในช่วงอายุแรกเกิด ถึง 4 สัปดาห์ถูกเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปไก่ไข่ (โปรตีน 19%) หลังจากนั้นสุ่มลูกไก่เข้าคอกทดลอง โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 4 ซ้ำตามแผนการทดลองแบบ Completely Randomized Design โดยกลุ่มที่ 1 ให้อาหารสำเร็จรูปไก่เนื้ออายุเกิน 3-7 สัปดาห์ (โปรตีน 19%) กลุ่มที่ 2 ให้อาหารสำเร็จรูปไก่ไข่ตามอายุของไก่ (โปรตีน 13-19%) กลุ่มที่ 3 ให้อาหารสำเร็จรูปไก่เนื้อ: รำละเอียด = 50:50 และกลุ่มที่ 4 ให้รำละเอียด: ข้าวโพดบด = 50: 50 ผลการทดลองปรากฏว่า  ไก่กลุ่มที่ 1 และ 2 มีน้ำหนักตัวเมื่ออายุ 8 สัปดาห์สูงกว่ากลุ่มที่ 3 อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง (P<0.01) และน้ำหนักตัวของไก่กลุ่มที่ 3 สูงกว่า (P<0.01) กลุ่มที่ 4 สำหรับน้ำหนักตัวเมื่ออายุ 12 และ 16 สัปดาห์ พบว่าไก่กลุ่มที่ 1 มีน้ำหนักตัวสูงสุด รองลงมาได้แก่ กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 ตามลำดับ ส่วนน้ำหนักตัวเมื่ออายุ 20 สัปดาห์ พบว่าไก่กลุ่มที่ 1 และ 2 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) แต่สูงกว่ากลุ่มที่ 3 และ 4 (P <0.01) ในช่วงอายุ 0-8, 0-12 และ 0-16 สัปดาห์  ไก่ลูกผสมฯ มีอัตราการเจริญเติบโตเรียงจากมากไปน้อย คือกลุ่มที่ 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ


ส่วนปริมาณอาหารที่กิน และประสิทธิภาพการใช้อาหาร พบว่า ไก่ที่ได้รับอาหารที่มีระดับโปรตีนสูงกว่าและมีความสมดุลย์ของโภชนะ มีแนวโน้มในการกินอาหารและประสิทธิภาพการใช้อาหารดีกว่า อัตราการตายของกลุ่มที่ 1, 2 และ 3 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) แต่ไก่กลุ่มที่ 1 มีอัตราการตายต่ำกว่าไก่กลุ่มที่ 4 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) การเลี้ยงไก่ลูกผสมพื้นเมือง ด้วยอาหารสำเร็จรูปไก่ไข่ตามอายุของไก่ (กลุ่มที่ 2) และ จำหน่ายเมื่ออายุ 12 สัปดาห์ จะให้กำไรสูงสุด (10.49 บาท) รองลงมา ได้แก่ การเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปไก่เนื้อผสมรำละเอียด และจำหน่ายเมื่ออายุ 12 และ 16 สัปดาห์ ซึ่งจะให้กำไรตัวละ 8.14 และ 7.21 บาท ตามลำดับ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

จินตนา อินทรมงคล, สมพล คนชม และศิริวัฒน์ อินทรมงคล. 2539. ผลของการใช้ข้าวเปลือกบดระดับต่างๆใน ไก่ลูกผสมพื้นเมืองxโรดฯ ที่เลี้ยงขังคอก. ประมวลเรื่องการประชุมทางวิชาการปศุสัตว์, ครั้งที่ 5 กรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ น. 267-274.
บัญญัติ เหล่าไพบูลย์, อัมพน ห่อนาค และทวีสุข แสนทวีสุข. 2526. การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการเลี้ยงไก่กระทง ไก่ชน และลูกผสม ในแง่ของการผลิตเนื้อ. รายงานการประชุมสัมมนาการเกษตรภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ: ไก่พื้นเมืองครั้งที่ 1. สำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่าพระขอนแก่น, น. 29-40.
เพ็ญสวัสดิ์ มายะเวส. 2528. ระดับโปรตีนที่เหมาะสมในการเลี้ยงไก่ลูกผสมระหว่างไก่พื้นเมืองกับโรดไอแลนด์แดง. ปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น.
ศรีสกุล วรจันทรา และอาวุธ ตันโว. 2539. การศึกษาการตอบสนองต่อระดับโปรตีน และพลังงานในไก่ลูกผสมสามสายเลือดพันธุ์สุวรรณ 6. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 34. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. น. 110: 118.
อุดมศรี อินทรโชต, ทวี อบอุ่น และสุรพล เสียงแจ้ว. 2540ก. อายุและขนาดที่เหมาะสมในการเลี้ยงไก่ลูกผสมพื้นเมืองที่เหมาะสมสำหรับบริโภคในครัวเรือน. รายงานผลงานวิจัย งานค้นคว้าและวิจัยการผลิตสัตว์ ประจำปี พ.ศ. 2539. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ. น. 298-319
อุดมศรี อินทรโชต, รัชดาวรรณ พูนพิพัฒน์ และกัลยา ยุญญานุวัฒน์. 2540ข. การเจริญเติบโตและคุณภาพซากของไก่ลูกผสมพื้นเมือง. รายงานผลงานวิจัยงานค้นคว้าและวิจัยการผลิตสัตว์ประจำปี พ.ศ. 2539. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรุงเทพฯ. น. 320-330.
อำนวย เลียวธารากุล. 2530. การเลี้ยงไก่พื้นเมืองxโรดฯ ด้วยอาหารชนิดต่างๆ. เอกสารเผยแพร่ทางวิชาการสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์มหาสารคาม กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, มหาสารคาม. 7 น.
อำนวย เลี้ยวธารากุล, พัชรินทร์ สนธิ์ไพโรจน์ และศิริพันธ์ โมราถบ. 2540. การผสมและคัดเลือกพันธุ์ไก่เนื้อพื้นเมืองสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์มหาสารคาม II. สมรรถภาพการผลิตของไก่พื้นเมืองที่เลี้ยงในสถานีบำรุง พันธุ์สัตว์. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 35. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. น. 55-63.
Ensminger, M.E. 1992. Poultry Science. 3rd edit. Interstate Publishers, Inc. Danville, Illinois.
Jackson, S.E., J.D. Summers and S. Leeson. 1981. Effect of dietary energy, protein levels and hyperthermia on performance, body composition and production costs of broiler chickens. Poult. Sci. 60: 1674.
Jenkins, J.L., T.L. Lewin and C.O. Brils. 1982. Effects of two dietary protein levels on quantitative traits in growing dual purpose chickens. Poult. Sci., 61-1382.
North, M.O. 1984. Commercial Chicken Production Manual. 3rd edit. AVI Publishing Company, Inc. Westport, Connecticut.
NRC. 1977. Nutrient Requirement of Domestic Animals. No. 1 Nutrient Requirement of Poultry. National Academy of Science. National Research Council, Washington, DC.
SAS. 1990. SAS User's Gride. Statistics. SAS Inst. Inc., Cary, NC.