ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจในการปลูกกาแฟอราบิก้าบนที่สูง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับการปฏิบัติดูแลรักษา การปลูกกาแฟของเกษตรกรในอันที่จะหาแนวทางที่จะส่งเสริมให้ศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟบนที่สูง คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วางแผนกลยุทธ์ในการส่งเสริมการปลูกกาแฟให้มากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ 4 หมู่บ้าน 4 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวคือ บ้านดอยสามหมื่น อ.เชียงดาว จำนวน 37 ครัวเรือน, บ้านขุนวาง อ.สันป่าตอง จำนวน 37 ครัวเรือน, บ้านบ่อแก้ว อ.ฮอด จำนวน 30 ครัวเรือน และบ้านป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จำนวน 20 ครัวเรือน รวมทั้งหมดเป็น 124 ครัวเรือน ในจำนวนนี้เป็นผู้ปลูกเสีย 85 ครัวเรือน และผู้เลิกปลูก 28 ครัวเรือน และเป็นผู้ไม่เคยปลูก 11 ครัวเรือน (ในจำนวนผู้ปลูก 85 รายนี้มี 20 รายที่ยังไม่มีรายได้ จากการปลูกกาแฟ จึงตัดออกเหลือเพียง 65 รายเท่านั้น) เกษตรกรเหล่านี้ส่วนมากเป็นชาวเขายกเว้นบ้านป่าเมี่ยงเท่านั้น ที่เป็นคนเมือง เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Stepwise Regression Analysis
จากผลของการวิจัย พบว่า มีตัวแปรอิสระเพียง 3 ตัวเท่านั้น คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลรักษากาแฟ ประสบการณ์ในการปลูกกาแฟและการมีตำแหน่งเป็นผู้นำมีความสัมพันธ์กับคะแนนการยอมรับปฏิบัติ (ตัวแปรตาม) สำหรับตัวแปรอื่น ๆ เช่น อายุ, จำนวนแรงงานในครัวเรือน, เนื้อที่ปลูกไม้ยืนต้น, แหล่งน้ำ, การได้รับการฝึกอบรม, การฟังข่าวจากวิทยุ, การใช้สินเชื่อ, การติดต่อเจ้าหน้าที่ส่งเสริม, รายได้จากการปลูกกาแฟ ไม่มีความสัมพันธ์กับการยอมรับแต่อย่างใด ข้อเสนอแนะจากการวิจัยในครั้งนี้ ก็คือ ควรจะมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมให้มากกว่านี้ เพื่อเพิ่มความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปลูกกาแฟให้มากยิ่งขึ้น อนึ่ง การส่งเสริมการปลูกกาแฟในโอกาสต่อไป ควรจะใช้ “เกษตรผู้นำ” หรือเกษตรกรผู้เคยประสบความสำเร็จในการปลูกกาแฟเป็นตัวอย่าง โดยการพาเกษตรกรคนอื่น ๆ มาดูงานไร่กาแฟของเกษตรกรผู้นำ ก็เชื่อได้ว่าการส่งเสริมการปลูกกาแฟจะได้ผลถึงมือเกษตรกร อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
Article Details
References
Opare, K.D., 1977, “The Role of Agricultural Extension in the Innovations by Cocoa Growers in Ghana” , in Rural Sociology. Vol 42, No.1.