ระบบกองทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมการปลูกและการผลิตกาแฟอราบิก้าของโครงการพัฒนาเขตพื้นที่สูงไทย-ออสเตรเลีย : ความสำเร็จ ปัญหา และอุปสรรค

Main Article Content

ธีระเดช พรหมวงศ์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาระบบการใช้กองทุนหมุนเวียนที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟอราบีก้าศึกษาการมีส่วนร่วม ความคิดเห็น การชำระคืนสินเชื่อ การติดตามผล และการยอมรับของเกษตรกรต่อระบบการใช้กองทุนหมุนเวียนในการปลูกกาแฟ ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของกองทุน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกรในการใช้กองทุนหมุนเวียน  มีการใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยออกแบบสัมภาษณ์เกษตรกรชาว เข้าร่วมกับวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ จำนวนตัวอย่างที่นำมาศึกษาทั้งหมด 119 ตัวอย่าง  จากผลการวิเคราะห์ ข้อมูลพื้นฐานพบว่าผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุระหว่าง 30-39 ปี  ไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือไทยได้ สถานภาพทางครอบครัวส่วนใหญ่แต่งงานแล้ว มีจำนวนบุตรเฉลี่ย 3.8 คน มีจำนวนสมาชิกในครัว เรือนเฉลี่ย 6 คน จำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่เป็นแรงงานการเกษตรเฉลี่ย 3 คน


ข้อมูลด้านการปลูกกาแฟ เกษตรกรที่ปลูกกาแฟมีจำนวนต้นกาแฟเฉลี่ย 736 ต้น จำนวนต้นกาแฟที่ ให้ผลผลิตแล้ว 535 ต้น เกษตรกรมีประสบการณ์ปลูกกาแฟเฉลี่ย 6 ปี ระยะเวลาเดินทางจากบ้านถึงแปลงกาแฟเฉลี่ย 16 นาที เกษตรกรส่วนใหญ่เคยเข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการปลูกกาแฟมาแล้วเฉลี่ย 2.45 ครั้ง บุคคลที่เกษตรกรเข้าปรึกษาเมื่อประสบปัญหาด้านการปลูกกาแฟส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.10 ขอคำปรึกษาจากศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เกษตรกรชาวเขาส่วนใหญ่ร้อยละ 54.6 ไม่ต้องการความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ การปลูกกาแฟเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 94.9 ขายกาแฟในรูปสารกาแฟ  มีจำนวนผลผลิตสารกาแฟเฉลี่ย 120 กิโลกรัมต่อครัวเรือน มีรายได้จากการขายกาแฟเฉลี่ย 6,020 บาท


การมีส่วนร่วมของเกษตรกรต่อกองทุนหมุนเวียน  พบว่าการมีส่วนร่วมมีคะแนนอยู่ในระดับปานกลางความคิดเห็นของเกษตรกรต่อกองทุนหมุนเวียน พบว่าเกษตรกรมีความคิดเห็นของตนเองมีคะแนนอยู่ในระดับน้อย


การชำระคืนสินเชื่อของเกษตรกร พบว่าร้อยละ 38.2 มีการชำระคืนสินเชื่อ ร้อยละ 36.1 ไม่ชำระคืนร้อยละ 25.2 มีการชำระคืนสินเชื่อเป็นบางส่วน และเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.8 ชำระคืนสินเชื่อไม่ตรงเวลา


การฝึกอบรมอบรมให้ความรู้ก่อนสนับสนุนปัจจัยการผลิต  พบว่าเจ้าหน้าที่ส่งเสริมอบรมให้ความรู้ก่อนการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ร้อยละ 90.8


การติดตามผลของเจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการกองทุน  พบว่ามีการติดตามผลในระดับปานกลาง       ความคิดเห็นของเกษตรกรต่อการบริหารงานของคณะกรรมการกองทุน  พบว่าเกษตรกรมีความคิดเห็นต่อการบริหารงานกองทุนในระดับปานกลาง


การการยอมรับการใช้เทคโนโลยีในการผลิตกาแฟ เกษตรกรมีการยอมรับในการใช้พันธุ์กาแฟพันธุ์ใหม่ที่ต้านทานโรคราสนิม ร้อยละ 65.0 การใส่ปุ๋ยมีการยอมรับ ร้อยละ 73.1 การขุดหลุมปลูกตามคำแนะนำมีการยอมรับร้อยละ 90.8 การใช้จำนวนต้นต่อไร่มีการยอมรับ ร้อยละ 93.3 มีการยอมรับว่าจะดูแลรักษาแปลงกาแฟต่อไปไม่ว่าราคากาแฟจะสูงหรือต่ำ ร้อยละ 61.3


การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระ ได้แก่ อายุการศึกษา จำนวนบุตร จำนวนแรงงานประสบการณ์ในการปลูกกาแฟ และการเข้ารับการฝึกอบรม กับตัวแปรตาม พบว่า


ตัวแปรอิสระทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับการชำระคืนสินเชื่อ ได้แก่ ระดับการศึกษา จำนวนสมาชิกในครัวเรือนและการฝึกอบรม มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05


ตัวแปรอิสระทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับการติดตามผลของเจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการกองทุนฯ ได้แก่ อายุ การศึกษา จำนวนบุตร และการฝึกอบรม มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05


ตัวแปรอิสระทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับความคิดเห็นของเกษตรกรต่อกองทุนหมุนเวียน ได้แก่ ระดับการศึกษา และประสบการณ์ในการปลูกกาแฟ มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัญหาที่เกษตรกรชาวเขาประสบอยู่ในการปลูกกาแฟ ได้แก่ เกษตรกรไม่มีความรู้เพียงพอในการปลูกกาแฟ ต้นกาแฟตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้นกาแฟขาดน้ำในฤดูแล้ง ต้นกาแฟถูกสัตว์เลี้ยงรบกวน ปัจจัยการผลิตกาแฟ มีราคาแพง ขาดแรงงานในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ดินปลูกกาแฟขาดความอุดมสมบูรณ์ หนอนเจาะต้นกาแฟ ตลาดกาแฟมีผู้ซื้อน้อย และอยู่ห่างไกล ราคาผลผลิตตกต่ำ ขาดข้อมูลข่าวสารการตลาดกาแฟ ขาดคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลาที่จำเป็น เจ้าหน้าที่ส่งเสริมมีน้อย และส่งเสริมไม่ทั่วถึงและในช่วงฤดูฝนปฏิบัติ งานลำบาก เกษตรกรขาดความรู้ในด้านการดำเนินงานเกี่ยวกับกองทุน ขั้นตอนการกู้ยืมสินเชื่อมีความยุ่งยาก เกษตรกรมีภาระความจำเป็นต้องใช้เงินซื้อเครื่องอุปโภค บริโภคจึงชำระคืนสินเชื่อไม่ได้ เกษตรกรมีความเคยชินกับการให้เปล่าจากหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน สมาชิกกองทุนขาดความร่วมมือความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ใช้เงินกองทุนและวัสดุสินเชื่อผิดวัตถุประสงค์ และสมาชิกกองทุนมีหนี้ค้างชำระมากกองทุนไม่สามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพได้

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ และธีระเดช พรหมวงศ์. 2537. “การส่งเสริมและพัฒนาการปลูกกาแฟบนที่สูง” ในอักษรเสกธีระ และพงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์, บรรณาธิการ. การปลูกและผลิตกาแฟอราบีก้าบนที่สูง.เชียงใหม่.: โรงพิมพ์ พีอาร์ คอมพิวเตอร์.
ศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟบนที่สูง, โครงการ. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2530. คู่มือการปลูกกาแฟอราบีก้าในภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์ดารารัตน์.
กานดา พูนลาภทีวี. 2530. สถิติเพื่อการวิจัย. กรุงเทพมหานคร : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์การพิมพ์.
โครงการพัฒนาเขตพื้นที่สูงไทย-ออสเตรเลีย. 2533. คู่มือปฏิบัติงาน กองทุนหมุนเวียนหมู่บ้าน. (ตุลาคม) โครงการพัฒนาเขตพื้นที่สูงไทย-ออสเตรเลีย. 2536. บันทึกการปฏิบัติงานโครงการ. กองสงเคราะห์ชาวเขากรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย.
โครงการพัฒนาเขตพื้นที่สูงไทย-ออสเตรเลีย. 2534. คู่มือแนะนำโครงการ
ธีระเดช พรหมวงศ์. 2536. การศึกษาเปรียบกลยุทธการส่งเสริมการปลูกและผลิตกาแฟอราบีก้าของโครงการพัฒนาที่สูงไทย-นอรเว และโครงการพัฒนาเขตพื้นที่สูงไทย-ออสเตรเลีย” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.