ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ได้เคยมีหัวข้อสนทนาในระหว่างนักวิชาการมหาวิทยาลัยที่ถือว่าทอปฮิตค่อนข้างมาก คือ การวิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยมีความเชื่อว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมอีเล็คทรอนิคส์ จะส่งผลให้มีการส่งออกสินค้ามากขึ้น และนำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมาก และจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเสือตัวที่ห้าของทวีปเอเชียในที่สุด นักวิชาการหลายฝ่ายไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ในระยะยาว เนื่องจากเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเกินไป ประเทศยังขาดความพร้อมอีกมากทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี และวัตถุดิบ ทำให้ต้องเพิ่มกำลังการผลิตบุคลากรสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรอย่างมากมาย จนไม่อาจแน่ใจในมาตรฐานของบัณฑิตที่ผลิตได้ เทคโนโลยีและวัตถุดิบล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานและชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ส่งผลให้การพัฒนาขาดความยั่งยืน ผลกระทบที่เกิดขึ้นในแง่การกระจายรายได้ก็ประสบภาวะล้มเหลว ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยกว้างขึ้น คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศและอยู่ในภาคเกษตร ได้รับประโยชน์น้อยมาก ทำให้ต้องละทิ้งไร่นา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารพื้นฐานเคลื่อนย้ายเข้าสู่สังคมเมืองเพื่อหารายได้จากภาคอุตสาหกรรมและบริการ
ปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก ตั้งแต่สังคมครอบครัวที่ต้องพลัดพรากกัน สังคมชนบทที่ขาดแคลนแรงงาน กิจกรรมร่วมทางสังคมชนบทหายไป ประชาชนล้วนนับถือเงินเป็นสรณะมากขึ้นเรื่อย ๆ
ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่กำลังส่งผลต่อคนไทยทุกคนในทุกวันนี้ ได้ยืนยันถึงความผิดพลาดของนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่ให้ความสำคัญกับงานผลิตภาคเกษตร รัฐบาลก็ยอมรับตรง จุดนี้ และได้เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ โดยตั้งเป้าการเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลก ซึ่งก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูง โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากมายอะไร เพราะความพร้อมของบุคลากร ทรัพยากรธรรมชาติ และเทคนิคนักวิชาการในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังมีคู่แข่งอีกมากมาย ถ้าจะตั้งความหวังในการเป็นนักอุตสาหกรรมเกษตรชั้นแนวหน้าของโลก การวิจัยทางด้านเกษตรในอนาคต เราควรมุ่งเน้นการผลิตเชิงอุตสาหกรรมกันมากขึ้นดีไหม จะได้ชื่อว่า นักวิจัยเกษตร ก็ร่วมมือใช้เงินกู้ไอเอ็มเอ็ฟให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลเช่นกัน
เผยแพร่แล้ว: 2020-10-22