ลักษณะความผิดปกติของใบลำไยที่แสดงอาการม้วนหงิกในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน

Main Article Content

จริยา วิสิทธิ์พานิช
ชาตรี สิทธิกุล
วิชชา สอาดสุด

บทคัดย่อ

จากการสำรวจแหล่งปลูกลำไยที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ 15 พื้นที่ และลำพูน 28 พื้นที่ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2539 ถึงมีนาคม 2540 เพื่อศึกษาปริมาณการแพร่กระจายของอาการม้วนหงิกของใบลำไย โดยวัดเปอร์เซนต์ความเสียหาย ของลำไยที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ด้วยการนับจำนวนต้นที่แสดงอาการผิดปกติ  เช่นโรคพุ่มแจ้ อาการหงิกของใบและอาการผิดปกติอื่น ๆ เปรียบเทียบกับต้นปกติทั้งสวน ผลปรากฏว่าในจังหวัดเชียงใหม่ต้นลำไยที่สำรวจทั้งหมดจำนวน 1,322 ต้น  พบต้นที่แสดงอาการใบหงิกโดยเฉลี่ย 18% เป็นอาการใบหงิกที่เกิดจากไร 13% นอกจากนั้นเป็นอาการโรคพุ่มแจ้ 3% และอาการใบหงิกจากสารกำจัดวัชพืช 2% สำหรับในจังหวัดลำพูนพบต้นลำไยแสดงอาการใบหงิกโดยเฉลี่ย 32% จากต้นลำไยที่สำรวจทั้งสิ้นจำนวน 2530 ต้นจำแนกเป็นอาการใบหงิกที่เกิดจากการได้รับสารกำจัดวัชพืช 23% อาการใบหงิกสาเหตุจากไร 9% และโรคพุ่มแจ้ 0.06% อาการใบหงิกที่เกิดจากการใช้สารกำจัดวัชพืชพบโดยรอบทรงพุ่มด้านนอก รูปร่างและขนาดของใบเล็กผิดปกติ มีอาการม้วนงอลงด้านล่าง ขนาดใบเล็กลง และมีอาการใบแคบยาวขอบใบหงิกเป็นคลื่นอีกลักษณะหนึ่ง เมื่อทำการวัดขนาดใบของต้นปกติกับต้นที่แสดงอาการใบหงิกจากสารกำจัดวัชพืช ที่บ้านสบปะและบ้านโฮ่งจังหวัดลำพูน ผลจากการวิเคราะห์ปรากฏว่าใบที่ถูกสารกำจัดวัชพืชมีขนาดเล็กกว่าใบปกติ โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


อาการหงิกเนื่องจากไรศัตรูพืชเข้าทำลาย พบเฉพาะบริเวณยอดอ่อนบางยอดของทรงพุ่มด้านนอก ยอดแตกเป็นพุ่มใบมีขนาดเล็กบิดเป็นเกลียว ขอบใบม้วนลงด้านล่าง และด้านบน ใต้ใบและบนใบมีขนละเอียดสีเขียวอ่อนปกคลุม (erineum) ในระยะแทงช่อดอก ก้านช่อดอกจะแตกเป็นพุ่มคล้ายไม้กวาด ขนาดก้านช่อดอกสั้น เมื่อทำการเปรียบเทียบกับความยาวของช่อดอกปกติ  พบว่าขนาดความยาวของช่อดอกที่ถูกไรทำลายจะสั้นกว่าช่อดอกปกติ โดยมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ


อาการหงิกเนื่องจากโรคพุ่มแจ้ พบทั่วทรงพุ่มทั้งด้านในและด้านนอก ตลอดจนตามกิ่งแขนงภายในทรงพุ่มยอดอ่อนแตกพุ่มเป็นกระจุกหนาแน่นมากกว่ายอดที่ถูกไรเข้าทำลาย อาการโรคพุ่มแจ้พบเป็นเฉพาะลำไยบางพันธุ์ เช่น เบี้ยวเขียว  แห้ว  แดงกลม  มาตีนโก๊ง  ส่วนพันธุ์ดอ ยังไม่พบอาการโรคพุ่มแจ้แต่อย่างใด

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ทัศนีย์ ประสพสุข. 2536. ลำไย. ข่าวเศรษฐกิจการเกษตร. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 39(441): 28-30
ประดับ แก้วเกาะสะบ้า. 2538. การพัฒนาไม้ผลเพื่อการส่งออกของจังหวัดเชียงใหม่: การวิเคราะห์เชิงภูมิศาสตร์การเกษตร. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.
ประสาทพร สมิตะมาน. 2534. โรคพืชที่เกิดจากเชื้อมายโคพลาสมา. น 185-203. ใน ประสาทพร สมิตะมาน (ผู้รวบรวม). โรคพืชวิทยา. ภาควิชาโรคพืช, คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
พรชัย เหลืองอาภาพงศ์. 2531. สารกำจัดวัชพืช. เชียงใหม่คอมพิวกราฟฟิค เซียงใหม่.
มานิตา คงชื่นสิน. 2538. ไรลำไย ศัตรูตัวเล็กที่ควรระวัง เคหการเกษตร. 19(7): 76-81.
วัฒนา จารณศรี และมานิตา คงชื่นสิน. 2534. ไรศัตรูพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย ใน ไรศัตรูพืช. เอกสาร วิชาการประกอบการอบรบหลักสูตรแมลง-สัตว์-ศัตรูพืช และการป้องกันกำจัดครั้งที่ 6 กองกีฏและสัตววิทยากรมวิชาการเกษตร.
วัฒนา จารุณศรี และมานิตา คงชื่นสิน. 2536. ตอบปัญหา. ว. กีฏ , สัตว. 15(3): 173 176
อารมณ์ อุดมสิน. 2537. ลำไย. ข่าวเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 40(453): 32-34
Cotzee, J.H. ; D.J. Rust, ; LM. latsky, 1986. Mite (Acari) on proteas-Acta-Horticulturae. 180, 247-251. Emmanovel, N.G. ; G.T. Papadoulis. 1987. Panonychus citri (MacGregor) (Tetranychidae) and Eriophyes medicaginis K. (Eriophyidae) : two important phytophagous mite recorded for the first time in Greece. Entomology Hellenica, 5: 1, 3-6.