สถานการณ์การผลิต และวิธีการปลูกกาแฟของเกษตรกรชาวเขาในจังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

ธีระเดช พรหมวงศ์
นริศ ยิ้มแย้ม
ดุษฎี ณ ลำปาง

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาสถานการณ์การปลูกกาแฟของชาวเขาในปัจจุบัน ศึกษาข้อแตกต่าง ในวิธีการปลูกกาแฟของเกษตรกรชาวเขากับวิธีการที่หน่วยงานส่งเสริมปลูกกาแฟแนะนำ ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยออกแบบสัมภาษณ์เกษตรกรชาวเขา ร่วมกับวิธีการเชิงคุณภาพโดยกำหนดคำถามหลักและเข้าไปพูดคุยพบปะกับเกษตรกรชาวเขาผู้ปลูกกาแฟ จำนวนตัวอย่างที่นำมาศึกษาทั้งหมด 115 ตัวอย่าง


จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานทั่วไปพบว่า ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สถานภาพทางครอบครัวแต่งงานแล้ว มีอายุระหว่าง 40-50 ปี สามารถอ่านและเขียนหนังสือไทยได้ มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 5 คน เป็นแรงงานด้านการเกษตรเฉลี่ย 3 คน มีประสบการณ์ในการปลูกกาแฟเฉลี่ย 9 ปี มีจำนวนต้นกาแฟเฉลี่ย 634 ต้นต่อครัวเรือน มีต้นกาแฟที่ให้ผลผลิตแล้วเฉลี่ย 540 ต้น เกษตรกรที่ปลูกกาแฟส่วนใหญ่ปลูกตามคำแนะนำ ของเจ้าหน้าที่ในปีที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เคยเข้ารับการฝึกอบรมด้านการปลูกกาแฟ การจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรร้อยละ 57.39 ขายกาแฟในรูปผลสด มีผลผลิตในรูปสารกาแฟต่ำสุด 1.5 กิโลกรัมต่อครัวเรือนสูงสุด 3,000 กิโลกรัม เฉลี่ย 151 กิโลกรัม มีรายได้จากการขายผลผลิตกาแฟต่ำสุด 21 บาท สูงสุด 60,000 บาท มีรายได้เฉลี่ย 4,018 บาทต่อครัวเรือน ร้อยละ 53.41 จำหน่ายผลผลิตให้พ่อค้าที่มารับซื้อในหมู่บ้าน


เกษตรกรชาวเขาส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนต้นกล้ากาแฟจากหน่ายงานต่างๆ ของรัฐ และโครงการพัฒนาที่สูงต่างๆ และเพาะเมล็ดเอง โดยได้เมล็ดพันธุ์จาก สวนตนเอง สวนเพื่อนบ้าน ญาติพี่น้อง เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีการเลือกพื้นที่ปลูกกาแฟ เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่มีจำนวนจำกัด ปลูกกาแฟร่วมกับไม้ผลอื่น และไม่มีความรู้ในการเลือกพื้นที่ ส่วนเกษตรกรที่มีการเลือกพื้นที่ปลูกกาแฟ ใช้หลักเกณฑ์ในการเลือกคือ เป็นพื้นที่ราบไม่สูงชันมากนัก ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ใกล้แหล่งน้ำ มีร่มรำไร ปลูกกาแฟใต้ต้นไม้ในป่าธรรมชาติ และปลูกในพื้นที่ไร้ฝิ่นเก่า เกษตรกรปลูกกาแฟที่ระดับความสูงเฉลี่ย 827 เมตร เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะของเจ้าหน้าที่ในด้านการทำขั้นบันได การปลูกไม้บังร่มให้กับต้นกาแฟ การตัดแต่งกิ่ง การคลุมโคน และการให้น้ำต้นกาแฟ เกษตรกรชาวเขาปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในด้านการวางหลุมปลูกกาแฟ ขนาดของหลุมปลูก การใส่ปุ๋ยต้นกาแฟ การกำจัดวัชพืช และการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูกาแฟ ปัญหาการผลิตกาแฟที่เกษตรกรชาวเขาประสบอยู่ ได้แก่ กาแฟ มีการดูแลรักษายาก ยุ่งยากในการเก็บเกี่ยวต้องใช้แรงงานมากทำให้ต้นทุนสูง ราคาผลผลิตกาแฟตกต่ำ ไม่มีตลาดรองรับ ต้นกาแฟขาดน้ำในฤดูแล้ง เกษตรกรขาคความรู้ในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู ขาดการให้คำแนะจากเจ้าที่ส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ขาดเงินทุนในการซื้อปัจจัยการผลิต และปัญหากระรอก หนู ทำลายผลกาแฟ

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมประชาสงเคราะห์. 2532. "พัฒนาการทางด้านการเกษตร : การส่งเสริมเกษตรบนที่สูงกรม ประชาสงเคราะห์" นิตยสารประชาสงเคราะห์ (32) กันยายน-ตุลาคม)
โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟบนที่สูง. 2530. คู่มือการปลูกกาแฟอราบีก้าในภาคเหนือของประเทศไทย. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์ดารารัตน์. เชียงใหม่.
พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ และดุษฎี ณ ลำปาง. 2530. การศึกษาสถานการณ์ปลูกกาแฟในจังหวัดภาคเหนือตอนบน. รายงานการวิจัย. เชียงใหม่: คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
วิจิตร ถนอมถิ่น. 2535. "การพัฒนากาแฟอราบีก้าในภาคเหนือและสถานการณ์ปัจจุบัน" ในรายงานการสัมมนากาแฟอราบีก้าในช่วงทศวรรษหน้า. เชียงใหม่ : โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ.
อักษร เสกธีระ. 2537. "การปลูกและ ผลิตกาแฟอราบีก้าบนที่สูง" ในอักษร เสกธีระ และพงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์, บรรณาธิการ. เชียงใหม่: โรงพิมพ์ พีอาร์ คอมพิวเตอร์.