แนวทางแบบผสมผสานบเพื่อสร้างทางเลือกของเกษตรแบบแผ้วถางและเผา สำหรับชุมชนปาเกาะญอบนที่สูง1/

Main Article Content

พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ
สุพร อำมฤคโชค

บทคัดย่อ

ชุมชนบนที่สูงยังคงใช้ระบบเกษตรแบบแผ้วถางและเผา เพื่อการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ปัจจุบันวิธีการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์จากสังคมภายนอกและในหลายพื้นที่ความสามารถในการฟื้นฟูดินได้ลดลงตามลำดับ ทำให้ระบบดังกล่าวไม่ยั่งยืน บทความนี้จะรายงานแนวทางและผลการพัฒนาทางเลือกของวิธีการดังกล่าว สำหรับชุมชนปาเกาะญอ ในพื้นที่บ้านวัดจันทร์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่


แนวทางแบบผสมผสานเพื่อสร้างทางเลือกของเกษตรแบบแผ้วถางและเผา ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า


1. การเพิ่มผลผลิตข้าว ทั้งที่เป็นนาลุ่มหรือที่ดอน จะช่วยลดความกดดันหรือความจำเป็นของการใช้การผลิตแบบแผ้วถางและเผา


2. การพัฒนารูปแบบการใช้ที่ดินแบบถาวร จะสามารถลดหรือทดแทนระบบแผ้วถางและเผาได้และ


3. พื้นที่ทำกินไม่ได้เป็นข้อจำกัดสำหรับการพัฒนาระบบเกษตรที่ยั่งยืนที่บ้านวัดจันทร์ แต่ต้องเพิ่มทักษะของการจัดการผสมผสานองค์ความรู้ภายนอกกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ เพื่อการดำรงชีพอย่างเหมาะสม


จากการทำความเข้าใจกับระบบการผลิตและรูปแบบการถือครองที่ดินของชาวปาเกาะญอ พบว่าชาวปาเกาะญอมีที่ดิน 4 ประเภท ได้แก่ ที่นา ที่ดอนสำหรับปลูกข้าว ที่สวน และแปลงฟื้นฟู ในการศึกษานี้ได้เน้นการพัฒนารูปแบบการใช้ที่ดินในพื้นที่นา ที่ดอน และแปลงฟื้นฟู สำหรับที่สวนชาวปาเกาะญอได้ใช้เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล หรือพืชผัก เพื่อส่งให้โครงการหลวงช่วยจัดจำหน่าย


การปรับปรุงนาข้าวประกอบด้วย การรวบรวมและคัดเลือกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ชาวปาเกาะญอปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ การเพิ่มผลผลิตโดยใช้ปุ๋ยเคมีในระยะสั้น และการใช้ปุ๋ยพืชสด เช่น โสนอัฟริกา การสนับสนุนข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยที่มีน้ำตลอดปีถูกจำกัดโดยพันธุ์ข้าว ซึ่งต้องมีคุณสมบัติไม่ไวแสง และทนต่อสภาพหนาวเย็นในเดือนมกราคม


พื้นที่ดอนสำหรับปลูกข้าวไร่ เป็นพื้นที่ถูกแผ้วถางจนไม่เหลือตอไม้พื้นเมืองแล้ว ผลผลิตข้าวไร่ต่ำกว่า 200 กก./ไร่  ถึงแม้จะให้โอกาสที่ดินได้พักฟื้นทุก 2 ปีก็ตาม การฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน เช่น ถั่วมะแฮะ มีความเป็นไปได้สูง


สำหรับแปลงฟื้นฟู ซึ่งบางครัวเรือนมีมากกว่า 1 แปลง ชาวปาเกาะญอจะใช้ปลูกข้าวไร่อย่างเดียวและปล่อยให้ฟื้นตัวตั้งแต่ 3-10 ปี การสำรวจพบว่า ระยะพักตัวนานถึง 7 ปีก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินได้ การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงฟื้นฟูนี้มีข้อจำกัดหลายประการเช่น พันธุ์พืชที่นำเข้าไปปลูกเสริมเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินไม่สามารถเจริญแข่งขันกับต้นที่แตกใหม่จากตอเดิมได้ ดินเป็นกรดและปริมาณธาตุฟอสฟอรัสต่ำ ทำให้พืชตระกูลถั่วหลายชนิดไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี งานทดลองเพื่อย่นระยะการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงฟื้นฟูนี้กำลังดำเนินการอยู่


นอกจากนี้ ได้ศึกษาศักยภาพของไม้ก่อซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ธรรมชาติในลุ่มน้ำวัดจันทร์ เพื่อพัฒนาเป็นพืชเสริมรายได้และช่วยอนุรักษ์ลุ่มน้ำ


บทความนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ทางเลือกสำหรับเกษตรแบบแผ้วถางและเผาไม่สามารถกระทำได้ ถ้าเน้นการปฏิบัติที่แปลงฟื้นฟูเพียงอย่างเดียว จำต้องเข้าใจกับวิถีชีวิตและเป้าหมายการผลิตของชุมชนและดำเนินการทดลองในพื้นที่ร่วมด้วย

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ป่าน ปานขาว (ยังไม่ได้ตีพิมพ์) ผลผลิตและลักษณะทางไอโซไซม์ของพันธุ์ข้าวกะเหรี่ยง
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. 2539. ภูมิปัญญานิเวศวิทยาชนพื้นเมือง สำนักพิมพ์โลกดุลยภาพ นนทบุรีศูนย์พัฒนา โครงการหลวงวัดจันทร์. 2538. สรุปรายงานการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ 2537. (เอกสารโรเนียว)
Amaruekachoke, S. and P. Gypmantasiri. 1995. Low-external-input and sustainable agriculture (LEISA) in Northern Thailand. Paper presented at the Workshop on Low-External-Input Sustain able Agriculture. PCARRD, Los Banos, Laguna, Philippines, 27-30 November 1995.
Shinawatra, B., S. Woodtijaroenkarn and M. Kerdlarb. 1994. The Socio-economic study of the tropical small watershed environment. In Sustaining Land Resource Management for Agriculture and Forestry in the Tropical Small Watershed Environment. A progress report, July 1993-June 1994. Faculty of Agriculture, Chiang Mai University, Chiang Mai, Thailand.
Wassananukul, W. 1991. Replenishment of organic matter for maintaining soil productivity in ricesoybean cropping system. Master’ s Thesis, Chiang Mai University, Chiang Mai, Thailand. Yoshida, S. 1981 Fundamentals of Rice Crop Science. IRRI, Los Banos, Laguna, Philippines.