การผลิตและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

Main Article Content

จารุวรรณ สิงห์ม่วง
ปิยะวดี กิ่งมาลา
นันทพร บุญสุข
สมพล พวงสั้น
ส่งศรี สินสมใจ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพทั่วไปของการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในจังหวัดฉะเชิงเทรา 2) เปรียบเทียบต้นทุนและผลตอบแทนของการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองระหว่างผลิตเพียงเพื่อจำหน่ายในประเทศกับผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร่วมกับเพื่อส่งออก และ 3) ศึกษาปัญหา อุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะของเกษตรกร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 71 คน ด้วยการเลือกตัวอย่างแบบโควตา รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที ผลการวิจัย พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 54.83 ปี จบการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาและแต่งงานแล้ว จำนวนสมาชิกในครัวเรือนส่วนใหญ่มีจำนวน 3-5 คน แต่จำนวนสมาชิกในครัวเรือนที่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงส่วนใหญ่มีจำนวน 1-2 คน เกษตรกรผู้ผลิตเพียงเพื่อจำหน่ายในประเทศมีต้นทุนต่อไร่ในการปลูกมะม่วงเฉลี่ย 18,500 บาท และผลตอบแทนต่อไร่เฉลี่ย 11,195 บาท ส่วนเกษตรกรผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร่วมกับเพื่อส่งออกมีต้นทุนต่อไร่ในการปลูกมะม่วงเฉลี่ย 12,882 บาท และผลตอบแทนต่อไร่เฉลี่ย 41,808 บาท จากการทดสอบด้วยสถิติที พบว่า ต้นทุนต่อไร่ในการปลูกมะม่วงของเกษตรกรผู้ผลิตเพียงเพื่อจำหน่ายในประเทศกับเกษตรกรผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร่วมกับเพื่อส่งออกไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่เกษตรกรผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร่วมกับเพื่อส่งออกมีผลตอบแทนต่อไร่ในการจำหน่ายมะม่วงสูงกว่าเกษตรกรผู้ผลิตเพียงเพื่อจำหน่ายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โรคที่ทำความเสียหายกับมะม่วงมากที่สุด คือ โรคแอนแทรกโนส และแมลงศัตรูพืชที่ทำความเสียหายกับมะม่วงมากที่สุด คือ เพลี้ยไฟ

Article Details

บท
บทความวิจัย