ประชาพิจัย: กลยุทธ์ใหม่ของการพิจารณา
จั่วหัวว่า “ประชาพิจัย” หลายท่านคงจะสงสัยว่า หมายถึงอะไร-อย่างไรกันแน่ คำที่คุ้นเคยกว่าน่าจะ ได้แก่ “ประชาพิจารณ์” ซึ่งก็หมายถึง การจัดเวทีให้ประชาชน-ผู้สนใจช่วยกันวิถกวิจารณ์หัวข้อใดหัวข้อหนึ่งหรือนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาคมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งหลัง ๆ มานี้ต้องถือว่าเป็นกิจกรรมยอดฮิต เพื่อแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตย และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาคมมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย นัยว่าเป็นเรื่องทันสมัยที่จะนำประเทศไปสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ได้ดี หรือมีความเป็นธรรมาภิบาลอะไรทำนองนั้น
ในส่วนของงานวิจัยของเรา ด้วยนโยบายรัฐบาลในการลดขนาดองค์กรและการมุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า-คุ้มทุน เป็นเหตุให้กรอบอัตราใหม่แทบจะไม่มีอัตราเก่าที่มีคนครองอยู่ก็ถูกตัดลด ยึดกลับไปเกือบจะหมดสิ้นภายใต้สภาวะอย่างนี้ในที่สุดทรัพยากรมนุษย์สำหรับงานวิจัยจะต้องขาดแคลนถึงขั้นวิกฤติแน่นอน ปัจจุบันผู้ทรงคุณวุฒิทางการวิจัยได้เสนอแนะทางเลือกในการระดมบุคลากรเพื่อการวิจัยไว้อย่างน่าสนใจคือ “กรอบแนวคิดการวิจัยโดยชุมชน” ได้แก่ การใช้บุคคลในพื้นที่มาร่วมเป็นนักวิจัยด้วย อาจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับพื้นที่ อาจเป็นเกษตรกร หรือแม้แต่ประชาชนผู้สนใจ นักเรียน นิสิต นักศึกษาในพื้นที่ บุคคลเหล่านี้ทราบปัญหาที่แท้จริงเพราะอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังทราบเงื่อนไขของปัญหา และข้อจำกัดของการแก้ไขปัญหาด้วย ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงน่าจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าของการวิจัยในระดับฟาร์ม หรืองานวิจัยระดับชุมชนที่เราไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง
เมื่อเป็นการดึงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาโดยตรง หรือที่ได้รับผลโดยตรงจากการวิจัยมาร่วมทำงาน คำว่า “ประชาพิจัย” จึงเป็นคำใหม่ที่ถูกนำมาใช้ และโดยรวมก็น่าจะสื่อความหมายได้ดีเพียงแต่เราต้องเห็นความสำคัญ และพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาก ๆ
ชิ้นงานวิจัยบนทิ้งจะได้เป็นชิ้นงานวิจัยเพื่อชุมชนอย่างแท้จริงเสียที
เผยแพร่แล้ว: 2020-10-02