ผลการใช้เชื้อเพลิงขยะ (RDF) ร่วมกับชีวมวลต่อสมรรถนะและการปลดปล่อยมลพิษของเตาเผาภาชนะเซรามิก
งานวิจัยนี้เป็นศึกษาผลกระทบทางด้านสมรรถนะของเตาเผา การปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม และการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์และเถ้า จากการนำเชื้อเพลิงขยะ มาใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงดั้งเดิม (ไม้) ที่อัตราส่วน 20 : 80 wt. % w.b. เทียบกับการใช้เชื้อเพลิงไม้ ซึ่งเป็นการเผาไหม้โดยตรงเพื่อให้ความร้อนแก่ชิ้นงานตัวอย่าง ได้แก่ กระถางดินเผาและจาน-ชามเซรามิก สำหรับใส่อาหาร โดยใช้เตาเผาเครื่องปั้นดินเผาชนิดทางเดินลมร้อนลง ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงดั้งเดิม ของอุตสาหรรมเตาเผาภาชนะเซรามิก ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา โดยเชื้อเพลิงขยะที่นำมาใช้ร่วมเป็นเชื้อเพลิงขยะประเภทที่ 3 และ 5 (Refuse-Derived Fuel 3, 5: RDF-3, RDF-5) ที่ผ่านการแปรรูปโดยระบบบำบัดขยะทางกลและชีวภาพของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (Suranaree University of Technology, Mechanical and Biological Treatment: SUT MBT) การวัดมลพิษทางอากาศจะตรวจวัดเพียงเชื้อเพลิงไม้ล้วนเทียบกับ ไม้ : RDF-3 เนื่องจาก RDF-3 และ RDF-5 มีคุณสมบัติทางเคมีที่เหมือนกัน จึงใช้ RDF-3 เป็นตัวแทนในการตรวจวัดมลพิษทางอากาศ