ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อกิจการและธุรกิจการเกษตรค่อนข้างมาก ทั้งทางด้านบวกและด้านลบ ผลกระทบด้านบวกบางอย่างก็ไม่อาจจะมีใครคาดคิดมาก่อน เช่น กรณีของข้าว ซึ่งเกษตรกรเคยขายได้เกวียนละ 3,000-4,000 บาท หรือ อย่างสูงก็ประมาณ 5,000 บาทเมื่อมีการเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคา ปัจจุบันเกษตรกรสามารถขายข้าว ได้สูงถึงเกวียนละ 8,000-10,000 บาท แถมยังมีการแย่งกันรับซื้ออีกต่างหาก สาเหตุเบื้องหลังก็คือ การขยายตัวของตลาดส่งออกข้าวไทยสู่ตลาดโลก ทำให้ตลาดภายในประเทศมีความต้องการซื้อข้าวค่อนข้างมาก ราคาจึงสูงขึ้นตามกฏของ อุปสงค์อุปทาน นี่กระมังที่เรียกว่า ผลกระทบของโลกาภิวัตน์
ความตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลลบต่อการเกษตรไทยเช่นกัน การที่คนไทยจนลงทำให้บริโภคน้อยลง ผลผลิตเกษตรก็ขายได้น้อยลง ราคาก็ถูกลงด้วย ผลเชิงลบนี้ กระทบค่อนข้างมากกับผลผลิตพืชในกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งในชีวิตประจำวันจะมีความจำเป็นจับจ่ายน้อยกว่าพืชอาหาร ถ้าเราท่านเป็นคนที่ชอบเดินชมตลาดต้นไม้เป็นประจำจะเห็นว่าปริมาณลูกค้าลดลงไปมาก ในตลาดบางแห่งคนขายมากกว่าคนซื้อด้วยซ้ำไป
ประสบการณ์จากวิถีการตลาดและราคาข้าว จะนำมาเป็นอุธาหรณ์ในการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับของไทยได้บ้างไหม? ถ้าเป็นไปได้เราควรจะหันมาวิจัยเพื่อพัฒนาและส่งเสริมพืชเหล่านี้ ในเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจรและเป็นระบบได้อย่างไร? เรายังมีทรัพยากรชีวภาพด้านไม้ดอกไม้ประดับอยู่อีกมากที่พร้อมพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น พืชกลุ่มกระเจียว และว่านนางคุ้มที่มีรายงานผลการวิจัยนำเสนอในวารสารฉบับนี้ เป็นต้น
ที่จริงเรามีคณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับอยู่แล้ว แต่ข้อติดขัดอาจจะอยู่ที่องค์ประกอบของกรรมการและภาระหน้าที่ที่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเชิงรุก เช่น การมุ่งเป้าหมายตลาดส่งออก และยังอาจติดขัดที่งบประมาณด้วยก็ได้
การใช้งบประมาณสนับสนุนลักษณะเงินเซอร์ชาร์จ ที่จัดเก็บเป็นภาษีการค้าการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับ ร่วมกับการกำหนดโครงสร้างองค์กรให้สามารถกำหนดนโยบายเชิงรุกได้ น่าจะเป็นทางออกที่ดี ได้ไหม? ดังตัวอย่างที่เราประสบผลสำเร็จค่อนข้างดีมาแล้วในงานเกี่ยวกับการพัฒนายางพาราของประเทศ
เผยแพร่แล้ว: 2020-10-19