จากการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้า และพิกัดอัตราภาษีศุลกากร (The General Agreement on Tariffs and Trades, GATT) หรือ แกทท์ เกี่ยวกับการค้าสินค้าเกษตรของประชาคมโลก ที่เริ่มมาตั้งแต่การประชุมที่เรียกว่ารอบโตเกียว (2522) จนกระทั่งรอบอุรุกวัย (2529) ซึ่งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและเป็นที่ทราบกันดีว่าในการค้าสินค้าการเกษตร มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่เรียกว่า เครนส์ (Cairns) และกลุ่มประเทศที่ปกป้องการนำเข้าสินค้าเกษตร คือกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป (European Community, EC) หรือ อีซี กับประเทศญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยที่น่าสนใจคือ การที่ญี่ปุ่นถูกบีบให้เปิดตลาดสำหรับข้าว ซึ่งญี่ปุ่นได้ใช้ระบบที่เรียกว่า Food Control System เป็นเครื่องมือสำหรับป้องกันการนำเข้า ข้าวจากต่างประเทศตลอดมา แรงต่อต้านนี้ได้อ่อนลงเรื่อย ๆ เช่นการยอมให้มีการนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำ 6.5 เปอร์เซนต์ของปริมาณข้าวที่ผลิตได้ (650,000 ตัน) เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ และทำกาว (กรุงเทพธุรกิจ, 19 ตุลาคม 2533) หรือบทความของคุณ Hisahiko Okazaki ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Yomiuri Shimbun (อ้างอิงโดย The Nation, 8 มีนาคม 2536, หน้า A6) ที่ชี้ให้เห็นว่าถ้าญี่ปุ่นยังคงยืนกรานที่จะไม่ยอมให้มีการนำเข้าข้าว อาจทำให้ญี่ปุ่นเสียผลประโยชน์ ถ้ากลุ่มอีซีกับสหรัฐอเมริกาสามารถรอมชอมกันได้ จากแนวโน้มนี้วารสารเกษตรใคร่ขอเชิญชวนส่งเรื่องเกี่ยวกับข้าวญี่ปุ่น (Oryza japonica) ในแง่มุมต่างๆ ทางการเกษตร หวังว่าคงจะได้รับความกรุณาจากสมาชิก และผู้อ่านเช่นเคย
อนึ่งเพื่อความสะดวกในการเตรียมต้นฉบับวารสารเกษตร ใคร่ขอเพิ่มเติมวิธีการส่งต้นฉบับตามรายละเอียดในหน้าถัดไป สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ได้ส่งเรื่องมาลงพิมพ์อย่างต่อเนื่องเสมอมา
เผยแพร่แล้ว: 2020-10-29