สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน
ปีนี้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ ในฤดูหนาวก็นานกว่าปกติ ส่วนฤดูร้อนที่กำลังเผชิญนี้ก็ร้อนจัดเอาเรื่อง จนเกิดพายุฤดูร้อนที่นำลูกเห็บตกไปทั่ว โดยเฉพาะภาคเหนือไม่ได้เพียงทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือนเท่านั้น ผลผลิตทางการเกษตรก็เสียหายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสวนผลไม้ สวนผัก หรือแม้กระทั่งข้าวที่อยู่ในนา นี่เป็นปรากฏการณ์การเตือนจากธรรมชาติ ดังนั้นนักวิจัยจึงต้องวิจัยหาวิธีการปรับตัวของพืชและสัตว์ ให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศให้ได้ เช่น การปรับตัวของพันธุ์ข้าวไร่ และข้าวนาสวนว่าจะต้องจัดการแปลงอย่างไร ในสภาพของการใช้น้ำให้น้อยลงเรียกว่าสภาพแอโรบิก สำหรับในสัตว์นั้นอาหารสัตว์นับว่าเป็นต้นทุนการผลิตที่สูง จึงต้องหาเศษวัสดุเหลือทางการเกษตรมาทดแทน เช่น วัสดุเพาะเห็ดนางรม สำหรับใช้เป็นอาหารไก่เนื้อ หรือใช้กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมันหมักยีสต์เป็นอาหารแพะ เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างของบทความในวารสารเกษตร
วารสารเกษตร ฉบับที่ 2 ของปีที่ 30 มีบทความวิจัย จำนวน 10 เรื่อง คือ พืชสวน 2 เรื่อง พืชไร่ 1 เรื่อง ปฐพีศาสตร์ 1 เรื่อง โรคพืช 1 เรื่อง กีฏวิทยา 2 เรื่อง สัตวศาสตร์ 3 เรื่อง และบทความปริทัศน์ 1 เรื่อง ซึ่งบทความดี ๆ เหล่านี้ เกิดจากความตั้งใจในการศึกษาวิจัย เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ ต้องขอขอบคุณคณะผู้วิจัยทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้แบ่งปันข้อมูลที่จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ดีได้
พบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ
เผยแพร่แล้ว: 2020-08-04